รู้จักกับ “O-GA” และ “Radiostent” เด็กไทยทั้ง 2 ทีม ที่คว้ารางวัล James Dyson Award ปี 66

รู้จักกับ “O-GA” และ “Radiostent” เด็กไทยทั้ง 2 ทีม ที่คว้ารางวัล James Dyson Award ปี 66

ทำความรู้จักกับ O-GA กับผลงานเครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ผลงานของนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลชนะเลิศประจำปี 2566 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน James Dyson Award ในระดับนานาชาติต่อไป และ Radiostent อีกหนึ่งทีมมากความสามารถในตำแหน่งรางวัลรองชนะเลิศประเทศไทย ที่มุ่งมั่นช่วยผู้ป่วยเนื้องอกสมองให้เข้าถึงการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

O-GA แก้ปัญหาเชื้อเพลิงการเกษตรอย่างยั่งยืน

หากมาดูสถิติเดือนมกราคม ปี 2566 จะพบว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้นเป็น 92% ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศลดลงเหลือ 8% ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศผันผวนตามราคาโลก ขณะที่เกษตรกรภายในประเทศไทยประสบปัญหาเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการเกษตรมีราคาแพง ส่งผลให้ราคาของสินค้าเกษตรสูงขึ้นตามต้นทุนด้วย

O-GA เห็นปัญหาดังกล่าง จึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงสูง ที่ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรชาวไทย จนริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาทางเลือกด้านพลังงานให้เกษตรกรชาวไทย โดยเครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นโซลูชันที่นำเสนอเชื้อเพลิงในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ให้แก่ชุมชนที่ห่างไกลในประเทศไทย

รู้จักกับ “O-GA” และ “Radiostent” เด็กไทยทั้ง 2 ทีม ที่คว้ารางวัล James Dyson Award ปี 66

“ภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องพึ่งพาไบโอดีเซลจำนวนมาก เราจึงมองหาพืชที่จะมาทดแทนการใช้น้ำมันได้มากที่สุด” น้อง ๆ จากทีม O-GA กล่าว

O-GA (โอก้า) คือชื่อของเครื่องจักรแบบ All-In-One ทำหน้าที่เพาะเลี้ยงสาหร่าย สกัดสาหร่ายเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และเป็นเครื่องจ่ายน้ำมันแก่ผู้ใช้ ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากการนำหัวเชื้อสาหร่ายไปเพาะเลี้ยงในหลอดเลี้ยงเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อสาหร่ายเติบโตและเพิ่มปริมาณจนมีจำนวนมากเพียงพอแล้วสาหร่ายจะถูกนำไปเข้าสู่ระบบการสกัดและกระบวนการทางเคมีเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล หลังจากนั้นน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จะถูกเก็บในถังเก็บและแจกจ่ายแก่ผู้ใช้ผ่านหัวจ่ายต่อไป

“ที่เราพัฒนาเป็นเครื่องแบบ All-In-One เพราะเราอยากตัดวงจรด้านโลจิสติกต์หรือเรื่องการขนส่งต่าง ๆ ทิ้งไป และตั้ง O-GA เครื่องเดียวก็สามารถผลิตได้เลย”

ซึ่งทีม O-GA ยังคิดต่อยอดด้วยว่า ปกติเครื่องจักรตัวนี้จะต้องวางไว้กลางแจ้งเพื่อให้สาหร่ายรับแสงและเติบโตได้ แต่หากเป็นช่วงที่ฟ้าครึ้มไม่มีแสงแดด ก็สามารถใช้แสงจากหลอดไฟ LED เข้ามาทดแทนได้ อีกส่วนคือ การใช้งานในชนทบอาจจะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าบ้าง ก็มีแผนจะเชื่อมพลังงานกับแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือพลังงานสะอาดอื่นๆ ที่นำมาปั่นเป็นไฟฟ้าได้

“ในอนาคตหากเทคโนโลยีไปถึง เราเชื่อว่านวัตกรรมของเราไม่ใช่แค่พลังงานทดแทน แต่จะกลายเป็นพลังงานหลักได้ เข้ามาสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้” น้อง ๆ จากทีม O-GA กล่าว

รู้จักกับ “O-GA” และ “Radiostent” เด็กไทยทั้ง 2 ทีม ที่คว้ารางวัล James Dyson Award ปี 66

สรวิศ อุปฌาย์ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ออกแบบ O-GA กล่าวในตอนท้ายว่า “เราดีใจมากที่ผลงานในห้องเรียนของทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศ และสามารถนำเสนอในระดับนานาชาติได้ ทำให้เห็นว่าคนไทยก็มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ไม่แพ้ใคร”

ทั้งนี้ ทีมผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ James Dyson Award ระดับชาติจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 220,000 บาทเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาผลงานต่อไป โดยหลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศแล้ว O-GA จะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดรางวัลในระดับนานาชาติซึ่งจะประกาศผู้เข้ารอบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 นี้

Radiostent มุ่งมั่นแก้ปัญหาโรคเนื้องอกในสมอง

อีกหนึ่งผลงานที่น่าประทับใจของการแข่งขันในประเทศไทยครั้งนี้ คือ Radiostent ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศในประเทศไทย

ที่มาของการพัฒนา Radiostent สืบเนื่องมาจากการรักษาเนื้องอกในสมองในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ประกอบกับโรงพยาบาลในประเทศไทยยังขาดแคลนอุปกรณ์การรักษาโรคเนื้องอกในสมองอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองที่รับการรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัดต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครเพื่อรับการรักษา

ซึ่ง Radiostent เป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย โดยการทำงานนั้นเป็นการผสานรวมการรักษาเนื้องอกด้วยการฝังแร่กัมมันตรังสีแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีการใส่ขดลวดในเส้นเลือด เป็นการรักษาทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ นอกจากนั้นการฝังตัว Radiostent ในบริเวณเนื้องอกทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาเคมีบำบัดบ่อยครั้ง อีกทั้งการรักษาเนื้องอกด้วย Radiostent จะเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาแบบเคมีบำบัดอีกด้วย

“เราเชื่อว่านวัตกรรมนี้จะถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์ได้จริง Radiostent จะเข้ามาช่วยลดเวลาการผ่าตัด และยังลดอัตราการติดเชื้อได้ เพราะไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เพียงแค่ใช้สายสวนเข้าไป ด้านคนไข้จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สำหรับการพัฒนา Radiostent เบื้องต้นเรากำลังมองหาพื้นที่สำหรับทดลอง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อทดลองกับสัตว์ทดลอง ส่วนการทดลองกับคนจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปี รวมแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 5 ปี เพื่อพัฒนา”

James Dyson Award

เป็นงานประกวดที่สนับสนุนให้วิศวกรใช้ความรู้ในการค้นหาหนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นผ่านเทคโนโลยี ซึ่งในปี 2566 นี้ มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั่วโลกมากกว่า 1,969 ทีม และมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 216 ทีม จาก 42 มหาวิทยาลัย

Generative AI อนาคตการศึกษาไทยยุค EdTech

Scroll to Top