กนอ.ชู 8 หลักเกณฑ์สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco”

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อยอดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยวางกรอบแนวทางการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” ให้นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดย ชู 8 หลักเกณฑ์การรับรองการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco”

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม จึงได้นำนโยบาย“Thailand 4.0 และ Industry 4.0” มาพัฒนาต่อยอดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน และสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development : SD) โดย กนอ.ได้จัดทำหลักเกณฑ์นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.

ทั้งนี้ การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษ การกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจัดการระบบขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ 8 ด้าน สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ “Smart Eco” อันได้แก่

1 : Smart Environment Surveillance (ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ)เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2 : Smart Water (ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ) ที่มุ่งไปที่การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
3 : Smart Energy (ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ) เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4 : (Smart Waste) ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
5 : Smart Safety/Emergency (ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ) เพื่อการจัดการด้านความปลอดภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
6 : Smart Logistic (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) เพื่อการจัดการระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ
7 : Smart IT (ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ) เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8 : Smart Building (อาคารอัจฉริยะ) เพื่อการปรับปรุงและออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และ Smart Resource/Process (กระบวนการผลิตอัจฉริยะ) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีโรงงานอุตสาหกรรม

Related Posts

Scroll to Top