“สุวรรณภูมิ” ตั้งด่านตรวจโควิด-19 ด้วยระบบ PCR มั่นใจสกัดผู้ติดเชื้อได้ตั้งแต่ที่สนามบิน

นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มาตรการของท่าอากาศยานสุรรณภูมิ เพื่อรองรับผู้โดยสารต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ เช่น กลุ่มคณะทูต กลุ่มนักธุรกิจที่จำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติภารกิจในไทย เป็นต้น ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข , สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้โดยสารที่เดินทางเข้าไทยก่อนที่จะออกจากสนามบินเข้าประเทศ

โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตั้งจุดคัดกรองของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด – 19 ด้วยระบบการตรวจหาสารคัดหลั่งทางพันธุกรรมหรือ PCR ที่แม่นยำถึงร้อยละ 95 รู้ผลตรวจได้ภายใน 90 นาที โดยมีแพทย์จากบำราษฎร์นราดูลคอยประจำจุดตรวจคัดกรอง เบื้องต้นมีเครื่องตรวจ 14 เครื่องรองรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ขั้นต่ำชั่วโมงละ 28 คน สูงสุด 80 คน หรือไม่เกิน 200 คนต่อวัน และหลังจากนี้จะทยอยเพิ่มจำนวนเครื่องตรวจให้มากขึ้น โดยจุดตรวจ PCR นี้ จะรองรับการตรวจสำหรับกลุ่ม FAST TRACK (นักธุรกิจ / แขกของรัฐบาล / คณะทูต และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเป็นอันดับแรก)

ทั้งนี้สนามสุวรรณภูมิได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณ Gate D3 และ D4 ไว้เป็นห้องพักคอยสำหรับผู้โดยสารที่ต้องรอผลตรวจ ซึ่งภายในห้องดังกล่าวมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และจัดที่นั่งให้มีการวนระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมทั้งมีห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกไว้รองรับ

สำหรับผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องประสานขอออนุญาตผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยตนเองหรือผ่านตัวแทนธุรกิจ (เอเยนซี่) เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ ประสานอนุญาตการเดินทางมาสุวรรณภูมิแล้ว ก็จะอนุญาตให้มีการเดินทางเข้ามาตามรายชื่อที่กำหนด / โดยวันนี้จะนำร่องทดสอบใช้กับผู้โดยสารที่เป็นคนไทย ซึ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศไม่เกิน 200 คน และในอนาคตจะเพิ่มการติดตั้งระบบ PCR ที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งของไทย

ทั้งนี้การตรวจระบบ PCR ผู้เดินทางต้องประสานผ่านเอเยนซี่ และรับภาระค่าตรวจรายละ 3,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะยกเว้นให้แก่เจ้าหน้าที่การทูตเท่านั้น โดยเมื่อตรวจคัดกรองแล้วบุคคลเหล่านี้ แม้ไม่ต้องกักตัว 14 วันใน State Quarantine แต่การเดินทางไปที่ต่าง ๆ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตามการแพทย์และสาธารสุขติดตามไปด้วย เพื่อดูแล ประสานกับสาธารณสุข คอยแจ้งอาการและรายละเอียดติดตามให้คนที่มาเดินทางตามแผนที่กำหนด รวมทั้งมีการกันบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ เดินทางเข้าพื้นที่สาธารณะ หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการดังกล่าวเอเยนซี่ที่ประสานการเดินทางจะเป็นผู้รับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคมพบว่า มีนักธุรกิจต่างชาติติดต่อแจ้งความประสงค์เพื่อขอเดินทางเข้ามาแล้วจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้จัดโควต้าควบคุมจำนวนที่แน่ชัด

Scroll to Top