ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ภายใต้กระทรวง อว. จัดงาน Bio Asia Pacific 2024 เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นงานแสดงนิทรรศการและการประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม เทคโนโลยี ความก้าวหน้าด้านการแพทย์สุขภาพของไทยบนเวทีระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการไทยได้พบกับนักลงทุนทั้งจากในไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างโอกาสขยายธุรกิจสู่ตลาดหลักทรัพย์และขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศได้
5 อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โอกาสเติบโตของไทย
ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน กล่าวว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 8.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกลับบริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะฉะนั้นภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ (New growth engine) ซึ่งงาน Bio Asia Pacific 2024 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของ TCELS คือการให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนชาวต่างชาติ และดึงการลงทุนเข้ามาในไทย เพื่อส่งเสริมบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ให้ออกสู่ตลาดสากลได้ โดยเฉพาะ ‘ยา เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และ บริการด้านสุขภาพ (Health Services)’ ซึ่งต้องใช้เงินทุนพอสมควรเพื่อสร้างความได้เปรียบได้ในด้านต้นทุนการผลิต (Economies of Scale)
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัด การเสวนาในหัวข้อ TCELS Business Forum : The Age of Life Sciences Industry ภายใต้ประเด็น Roadmap to Capital Market เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน
TCELS รับบทผู้ผลักดัน
ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ ยังเล่าถึงที่มาของการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เข้าสู่ตลาดให้มากขึ้นว่า “ตั้งแต่ประเทศไทยมีตลาดหลักทรัพย์มา 40 กว่าปี มีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์อยู่ในตลาดไม่ถึง 30 บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่น้อยมาก หากเราทำให้บริษัทไทยเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ส่งออกไปต่างประเทศได้มากขึ้น ส่วนผู้บริโภคชาวไทยก็มีโอกาสเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพและราคาเข้าถึงได้”
สำหรับบทบาทของ TCELS คือการสนับสนุนบริษัทที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง เตรียมการให้บริษัทมีความพร้อมเข้าสู่ตลาด Live Exchange (LiVEx) ของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่เปิดมาเพื่อ Startup และ SME ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะเป็นสปริงบอร์ดให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ SET ได้ง่ายขึ้น
วันนี้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เป็นพันราย แต่บริษัทที่มีความพร้อมจริงๆ ในการเข้าสู่ตลาดทุนอาจจะมีไม่มาก ซึ่งในวันนี้ บริการด้านสุขภาพ (Health Services) ถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด เพราะเข้าเกณฑ์มาตรฐานในระดับประเทศมากที่สุด อีกส่วนหนึ่งคือบริการทางการแพทย์สามารถทำรายได้และกำไรได้ดี เช่น โรงพยาบาลศรีสวรรค์ ที่เริ่มต้นจากจังหวัดนครสวรรค์ก่อนจะเข้ามากรุงเทพฯ TCELS เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ทำ Capital Market relationship หรือการสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนในตลาด
อีกส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมสูงมากคือ บริษัทยา โดยเฉพาะ Generic drug หรือการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรยาแล้ว และเราสามารถผลิตได้เอง เช่น ยาที่รักษาโรค HIV ยาลดไขมัน ซึ่งการนำเข้ายาบางชนิดมีราคาสูง เมื่อหมดสิทธิบัตร เรามีสิทธิ์นำมาผลิตในประเทศไทย ซึ่งบริษัทยาไทยมีความสามารถในการผลิตยาลักษณะนี้
ด้าน เครื่องมือแพทย์ วันนี้มี 2 ประเภทคือ ประเภทที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องไปฝังอยู่ในร่างกาย กับประเภทความเสี่ยงต่ำ เช่น ถุงมือยาง ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิตประเภทความเสี่ยงต่ำ และทำขายในไทยได้ แต่สิ่งสำคัญคือการขยายไปในตลาดต่างประเทศ ซึ่ง TCELS เข้ามาสนับสนุนด้านการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเพื่อให้สินค้าเข้าไปขายในยุโรปได้
ส่วน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เป็นอีกตัวหนึ่งที่คนไทยมีมาตรฐานสูง มีโอกาสส่งออกในต่างประเทศหากไม่เจอด้านกำแพงภาษี
และสุดท้าย เครื่องสำอาง ถึงแม้ไทยจะมีมาตรฐานสูง แต่ในการแข่งขันจะยากเพราะติดเรื่องแบรนด์ ซึ่ง TCELS เข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทต่างประเทศ โดยให้ไทยเป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างการเติบโต
ตั้งเป้าสร้างมูลค่าผู้ประกอบการรายละ 3-5 พันล้านบาท
สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน ในปีงบประมาณที่ผ่านมา TCELS มีงบประมาณอยู่ที่ประมาณ 3-4 ร้อยล้านบาท โดยเกณฑ์ในการให้คือให้กับบริษัทที่มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมส่วนที่เป็นการให้ทุนไปแล้วประมาณ 50 บริษัท และส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมด้านการลงทุน เช่น การเทรนนิ่ง และการจับคู่กับนักลงทุน สนับสนุนไปแล้วประมาณ 30 บริษัท
“เรายังเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ณ ตอนนี้มีผู้ประกอบการอีก 13 ราย ที่เราเห็นโอกาสในการเข้าสู่ตลาด เราตั้งเป้าว่าใน 3-5 ปีนี้ แต่ละบริษัทจะสร้างมูลค่าได้ถึง 3-5 พันล้านบาท” ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา กล่าวสรุป
–รู้จัก “LS index” เครื่องมือพยากรณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ จาก TCELS