ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จาก TDRI เปิดเผย หลังการแถลงข่าวความร่วมมือของ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง เครือซีพี และ กลุ่มเทเลนอร์ ว่า การควบรวมของ ทรู และ ดีแทค หากทำสำเร็จ จะทำให้เกิดการผูกขาดมากขึ้นในระดับอันตราย
ในอดีตประเทศไทยนั้นมีประสบการณ์จากการผูกขาดโดยการควบรวมทั้ง
-เคเบิ้ลทีวี: เมื่อควบรวมทำให้แพ็กเกจราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะแพ็กเกจที่ดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้
-โรงหนัง: มีราคาตั๋วหนังแพงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
-ค้าปลีก: การควบรวมร้านค้า ทำให้ผู้ซื้อไม่ได้โปรโมชั่นเท่าเดิม
-แพลตฟอร์ม รถยนต์-ส่งอาหาร: การที่ Grab ควบรวม Uber เข้าไป ทำให้มีการผูกขาดเพียงรายเดียว
-โรงพยาบาล: โรงพยาบาลเอกชน ราคาค่ารักษาแพงมากขึ้นเมื่อถูกควบรวม
สำหรับการผูกขาดเชิงโครงสร้างนั้น โดยปกติจะมีการวัดดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) โดยวัดค่าสูงสุดที่ 10,000 หากมีการผูกขาดเพียงรายเดียว
(วิธีคิดคือการ นำเปอร์เซ็น (%) ส่วนแบ่งตลาดมายกกำลัง 2 เช่น 100 ยกกำลัง 2 เท่ากับ 10,000)
ดร.สมเกียรติ ยกตัวอย่างการแข่งขันสมาร์ทโฟนที่มีคู่แข่งมากมายหลายยี่ห้อทั้ง Apple, Samsung, Oppo, Vivo, Xiaomi, Huawei เมื่อนำส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์เหล่านี้มารวมกัน ก็ยังถือว่าต่ำกว่าค่าสูงสุด 10,000 มาก หมายความว่าผู้บริโภคมีทางเลือก และการแข่งขันยังไม่ถูกผูกขาด
“ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยมีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว ถ้าเกิดการควบรวมของ ทรู และ ดีแทค สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นในระดับอันตราย เพราะเหลือตัวเลือกเพียงแค่ 2 ค่าย”
สำหรับผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมนั้น แบ่งเป็นด้านบวก และ ลบ
ผู้ได้รับผลกระทบด้านบวก
คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย รวมถึง AIS จะได้ผลประโยชน์ไปด้วย ดูได้จากราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นในวันที่ผ่านมา
ผู้ได้รับผลกระทบด้านลบ
ดร.สมเกียรติ มองว่า ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยจะถอยหลังกลับไปก่อนปี 2547 โดย
-ผู้บริโภค ทั้งประชาชนทั่วไป และธุรกิจต่างๆ อาจจะถูกผูกขาดด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ที่ถูกบังคับให้เลือกใช้
-คู่ค้าของบริษัทโทรคมนาคม ทั้งร้านค้า และสตาร์ทอัพ จะได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้หมายความว่าการควบรวมจะสร้างนวัตกรรมออกมาได้มากจริงอย่างที่กล่าวอ้าง
-รัฐบาลจะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้น้องลง
-เศรษฐกิจไทย จะถูกผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และอาจจะตกขบวนกับการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับ กสทช. ที่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ดร.สมเกียรติ มองว่า กสทช. ควรนำกฎหมายมากางดูโดยละเอียด ซึ่งกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎหมายลูกได้ โดยไม่ต้องผ่านสภาฯ โดยทางกสทช. สามารถประกาศใช้ได้เลย เพื่อตรวจสอบการควบรวมให้ได้ เช่นเดียวกับ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่น่าจะเข้ามากำกับดูแลการผูกขาดได้ แต่ปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงานยังไม่ได้ออกมาสื่อสารอะไร