สภาวะทางสังคมในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดความเครียด รู้สึกเบื่อหน่ายและอ่อนล้า ที่มนุษย์เรามีโอกาสเผชิญ Toxic ทั้งทางตรงและทางอ้อม ย่อมส่งผลต่อคุณภาพด้านจิตใจของผู้คนที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรหลายแห่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ที่ถูกบั่นทอนจากสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศรอบตัว
วันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE อยากชวนไปสัมผัสกับโมเดลการบริหารองค์กร ของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกรองเท้าชั้นนำจากยุโรป ผ่านเรื่องราวการพูดคุยกับ เสาวคนธ์ ศิรกิดากร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR Director) บริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘เอคโค่’ (ECCO) ที่พร้อมส่องโอกาสของน้องๆ นักศึกษา TSE ในการฝึกงาน การเทรนด์จากผู้เชี่ยวชาญระหว่างการเรียน และการก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่เป็นได้มากกว่าวิศวกร
–รู้จัก Crime-as-a-Service ธุรกิจด้านมืดที่ใครก็เป็นอาชญากรไซเบอร์ได้
–เจาะลึกแบรนด์ TROPICANA น้ำมันมะพร้าว หลังรับรางวัล Superior Taste Award
ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับสุขภาพทางจิตใจ (Mental Health) เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยบ่อยขึ้น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE ได้ให้ความเห็นว่า “การที่สังคมให้ความสนใจประเด็น ‘สุขภาพทางจิตใจ’ (Mental Health) ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าปัญหาดังกล่าวเพิ่งเคยเกิดขึ้น ในทางกลับกันอาจก่อตัวเป็นมวลความเครียดและอ่อนล้ามานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับการยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นสิ่งสำคัญและกระทบต่อการดำเนินชีวิต และคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กๆ ในวัยเรียน ก็กำลังเผชิญปัญหาไม่น้อยไปกว่าคนทำงาน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการออกแบบระบบการศึกษา ที่จะเป็นกุญแจที่สามารถพาคนรุ่นใหม่ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพทางจิตใจ (Mental Health) ไปพร้อมกัน”
รู้จักและเข้าใจ Mental Health สไตล์ TSE
สิ่งหนึ่งที่ TSE ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ แนวคิดการสนับสนุนและการส่งเสริมจากมุมมองของผู้สอน ให้เอื้อต่อการเปิดกว้างและสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับผู้เรียนได้ โดยที่ช่วงวัย (Generation Gap) จะไม่ใช่กำแพงแห่งความแตกต่าง สังเกตได้จากบรรยากาศการเรียนของ TSE ที่ให้อิสระกับนักศึกษา เพื่อค้นหาตัวตนและกำหนดเป้าหมายชีวิตได้ด้วยตนเอง บนเส้นทางที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในคณะ ให้มีสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ไม่ทำให้เกิดมวลความเครียดและกดดันจากการเรียนรู้ เพราะนั่นหมายถึงการไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ TSE ให้ความสำคัญและอยากให้นักศึกษามีติดตัวออกไปทุกคน
TSE x ECCO พาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญการดูแลด้าน Mental Health
การเพิ่มพูนทักษะและความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมให้กับนักศึกษา คงจะพึ่งพาการเรียนในคลาสอย่างเดียวไม่พอ ซึ่งที่ผ่านมา TSE ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุดได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘เอคโค่’ (ECCO) บริษัทผู้ผลิตและส่งออกรองเท้าชั้นนำจากยุโรป เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาในการฝึกงาน การเทรนด์ทักษะขั้นสูงทั้งด้านวิศวกรรมและทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Trend) จากผู้เชี่ยวชาญระหว่างการเรียน และการก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่เป็นได้มากกว่าวิศวกร
“ECCO มีจุดเด่นอยู่หลายอย่างที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ของ TSE โดยเฉพาะเรื่องกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล สะท้อนให้เห็นจากการเปิดกว้างรับฟังแนวทางการทำงาน เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์สู่ความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งมุ่งเน้นความสุขของผู้เรียนและคนทำงาน ซึ่งเมื่อได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกภายในองค์กรของ ECCO พบว่า มีสถิติการที่มีพนักงานเกิดความท้อแท้ หมดไฟ ‘เบิร์นเอาท์’ (BURNOUT SYNDROME) หรือแม้แต่การลาออกน้อยมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน ซึ่ง TSE มองเห็นศักยภาพในจุดนี้ และมั่นใจที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ไปสัมผัสกับองค์กรที่มีสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้และการทำงานที่เต็มไปด้วยความสุข อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้คว้าเส้นทางสู่ความสำเร็จตามความถนัดของตนเองได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล กล่าวเสริม
จากมุมมองของ TSE ตอนนี้ลองมาเปิดใจให้กับผู้บริหารหญิงคนเก่งจากองค์กรพาร์ทเนอร์ล่าสุดของ TSE อย่าง นางเสาวคนธ์ ศิรกิดากร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR Director) บริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘เอคโค่’ (ECCO) ที่ได้เปิดโอกาสให้ได้เจาะลึกโมเดลความสำเร็จในการบริหารคนทำงาน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นองค์กรในฝันที่อยากตื่นไปทำงานในทุกวัน ว่ามีแนวคิดในการบริหารองค์กรอย่างไร ท่ามกลางโจทย์ยากๆ ทางสังคมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความขุ่นมัว (Toxic) จนสามารถส่งต่อให้กับองค์กรอื่นๆ ได้แบบชิลๆ
How to ดูแลอย่างเข้าใจ กับปัญหาคนทำงานหมดไฟ หรือ ‘เบิร์นเอาท์’ (BURNOUT SYNDROME)
เดิมที ECCO มีบริษัทแม่อยู่ที่เดนมาร์ค และมีสาขาอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้น การนำวัฒนธรรมการทำงานมาใช้ในประเทศไทยทั้งหมดอาจไม่สอดคล้องกับสภาพทางสังคม แต่ทั้งหมดอยู่บนแนวคิดเดียวกันซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการบริหารคนทำงาน นั่นคือ การส่งเสริมให้คนทำงานมีความกระตือรือร้นที่จะมุ่งสู่ความสำเร็จท่ามกลางบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจความรู้สึกของพนักงานทุกคน แต่สำหรับ ECCO ให้ความสำคัญกับการสังเกตและสำรวจความต้องการของคนทำงานอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะหาทางออกร่วมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เสาวคนธ์ กล่าวเสริมว่า “เมื่อได้ทำงานในตำแหน่งเดิมไปสักพัก บางคนอาจรู้สึกว่าตนเองมีความสนใจหรือถนัดในทักษะอื่นๆ ระหว่างทาง ซึ่ง ECCO ใช้วิธีการรับฟังอย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะส่งเสริมทั้งในแง่ของการจัดคอร์สส่งเสริมทักษะใหม่ๆที่สนใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานเปลี่ยนสายงานได้ และหาแนวทางส่งเสริมจนสามารถเติบโตในเส้นทางของคนเองได้ แต่หากละเลยปัญหานั้นไว้โดยไม่หาทางจัดการที่เหมาะสม วงจรของปัญหาคนทำงานรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดไฟ หรือ ‘เบิร์นเอาท์’ (BURNOUT SYNDROME) ก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ จนส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้และการทำงานในองค์กร ซึ่งเป็นแนวทางที่คล้ายกับการสอนของ TSE ที่เปิดกว้างทางความคิด ไม่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ECCO จึงเลือกจับมือกับ TSE ในฐานะพาร์ทเนอร์ที่พร้อมจะพัฒนาคนรุ่นใหม่ไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ ไม่ว่าในอนาคตโลกจะวิวัฒน์มากเพียงใด การเปิดกว้างรับฟังและการเปิดใจ ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรหรือสถาบันการศึกษาใดก็ตามได้ยึดถือ เพื่อเรียนรู้และพร้อมที่จะพัฒนาอย่างไม่จบสิ้น เพราะนั่นหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าใกล้เส้นทางสู่ความสำเร็จ โดยไม่ยึดติดกับค่านิยมหรือแบบแผนที่อาจไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และยังเป็นเส้นทางที่โรยด้วยความเข้าอกเข้าใจ ที่ช่วยเติมไฟให้กับผู้คน ได้มีความพร้อมในการเผชิญทุกอุปสรรคที่ขวางอยู่ตรงหน้า และสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ในที่สุด