“UNAI” เทคโนโลยีระบุตำแหน่งภายในอาคาร เสริมแกร่งธุรกิจจัดงานอีเวนต์

“UNAI” เทคโนโลยีระบุตำแหน่งภายในอาคาร เสริมแกร่งธุรกิจจัดงานอีเวนต์

ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันทางการตลาดสูง “ข้อมูล” คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภค ไม่เว้นแม้แต่ในธุรกิจการจัดงานอีเวนต์ ทั้งงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุมนานาชาติ หรือเรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทและกำลังเติบโตในประเทศไทย และล่าสุดทีมนักวิจัยไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมศักยภาพธุรกิจไมซ์ของไทยให้ก้าวไกลระดับนานาชาติ

แอลจีจัดแสดงนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น ในงาน CES 2022
ASUS เผยโฉม ZenBook 17 Fold แท็บเล็ต OLED แบบพับได้ หน้าจอ 17 นิ้ว

เทคโนโลยีที่ว่านี้คือ ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร หรือ “แพลตฟอร์มอยู่ไหน” (UNAI platformผลงานวิจัยพัฒนาของทีมวิจัยที่นำโดย ดร.ละออ โควาวิสารัช หัวหน้าทีมวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก “อยู่ไหน 3 มิติ” แพลตฟอร์มสำหรับให้บริการข้อมูลตำแหน่งหรือข้อมูลเส้นทางการเคลื่อนที่ของคนหรือวัตถุสิ่งของภายในอาคารแบบออนไลน์

ดร.ละออ ให้ข้อมูลว่า เริ่มแรกทีมวิจัยได้พัฒนาระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารขึ้นสำหรับใช้ติดตามหรือระบุตำแหน่งของพัสดุต่างๆ ภายในอาคารสำนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารงานพัสดุของสำนักงาน และปัจจุบันกำลังพัฒนาต่อยอดเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้จัดงานจะเก็บข้อมูลผู้เข้าชมงานทั้งในรูปแบบการลงทะเบียนหน้างาน หรือการสแกนคิวอาร์โคดด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งวิธีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ถึงความหนาแน่นของผู้เข้าชมงานในบริเวณต่างๆ หรือแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าชมงานให้ความสนใจบริเวณใดเป็นพิเศษ

ทีมวิจัยจึงนำต้นแบบระบบ UNAI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ประกอบด้วยธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาองค์กร (Meetings) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) การประชุมนานาชาติ (Conventions) และการจัดนิทรรศการหรืองานแสดงสินค้า (Exhibitions) ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้พัฒนาและทดสอบระบบ UNAI ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์และปรับเทคนิคให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น

“ระบบ UNAI จัดอยู่ในกลุ่มของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things) ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ส่งสัญญาณไร้สาย หรือ แท็ก (Tag) ทำหน้าที่เป็นป้ายระบุตำแหน่งโดยใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวขนาดเล็ก อุปกรณ์รับสัญญาณไร้สาย หรือ แองเคอร์ (Anchor) ซึ่งออกแบบให้มีแถวสายอากาศ (Antenna Array) มีระบบสื่อสารไร้สายมาตรฐานบลูทูทพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy: BLE) และใช้เทคนิค AoA (Angle of Arrival) ในการหาตำแหน่งของแท็ก และส่วนสุดท้ายคือ ระบบสื่อสารสำหรับส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ซึ่งรองรับการใช้เครือข่ายทั้ง 3G/4G Cellular Network และ 5G

การทำงานของระบบระบุตำแหน่ง แท็กจะส่งสัญญาณไปยังสายอากาศของแองเคอร์ 3 ตัวที่ใกล้ที่สุด  แองเคอร์แต่ละตัวจะคำนวณมุมตกกระทบของสัญญาณที่แท็กส่งมากับแถวสายอากาศ ซึ่งจะมีความต่างเฟสที่ได้รับในแต่ละสายอากาศ และส่งข้อมูลมุมเหล่านี้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ โดยเซิร์ฟเวอร์จะคำนวณหาตำแหน่งของแท็กได้อย่างแม่นยำและส่งข้อมูลตำแหน่งไปแสดงผลที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน UNAI แบบเรียลไทม์”

ดร.ละออ กล่าวว่า ระบบ UNAI จะช่วยให้ผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูลภาพรวมและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ เช่น จำนวนผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน ผู้เข้าชมงานสนใจกิจกรรมใดบ้าง นิทรรศการหรือสินค้าประเภทใดได้รับความสนใจมากที่สุด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น หรือนำเสนอบริการเสริมนอกเหนือจากระบบอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้ว เช่น เพิ่มระบบนำทางไปยังบูทที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินหา ทำให้มีเวลาเลือกสินค้าหรือเจรจาธุรกิจได้มากขึ้น รวมถึงประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาตำแหน่งของผู้เข้าร่วมที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุที่อาจเกิดการพลัดหลงจากผู้ดูแล

การนำระบบระบุตำแหน่งในอาคาร UNAI ไปประยุกต์ใช้ในการจัดงานนิทรรศการและงานแสดงสินค้า นอกจากช่วยเพิ่มความสะดวกในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้จัดงานและสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้เข้าชมงานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำเทคโนโลยีไปเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยที่กำลังเติบโตให้มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับโลก

ที่มา nstda

Scroll to Top