เวทีประชุมข้าวเพื่อความยั่งยืนครั้งที่ 2 สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการผลิตข้าว ขณะที่ภาคเอกชนไทย โชว์ระบบการปลูกข้าวยั่งยืน ดึงเกษตรกรเข้าโครงการ พร้อมการันตีรับซื้อผลผลิต 100%
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) จัดการประชุมและนิทรรศการข้าวเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2 โดยมีภาคเอกชนไทย (ข้าว ซี.พี.-ข้าวตราฉัตร) เข้าร่วมเพื่อให้สอดรับมาตรฐาน SRP หรือการขับเคลื่อนการเกษตรยั่งยืนของ UNEP
นายสุรชัย ชัยชนะสิทธิการ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (ข้าวตราฉัตร) กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการสะท้อนความกังวล 3 ด้าน ที่จะส่งผลกระทบกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร , การเชื่อมโยงภาคการเกษตรและสังคม เช่น สิทธิมนุษยชนและสุขอนามัยของเกษตรกร รวมถึงการปลูกข้าวทำนาต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขณะนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานของไทยส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตข้าวอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับบริษัทข้าว ซี.พี. จำกัด ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยได้จัดทำโครงการระบบการปลูกข้าวยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน GAP โดยเน้นการดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ , เลือกพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน และกำกับดูแล มาตรฐานการผลิตพร้อมรับประกันรายได้ด้วยการรับซื้อข้าวทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและพร้อมจะปลูกข้าวให้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 301,325 ไร่ และมีเกษตรกรสมาชิก รวมทั้งสิ้น 12,178 ราย
ทั้งนี้รูปแบบระบบการเกษตรแบบยั่งยืน คือการทำการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ความสมดุลของสภาพธรรมชาติ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง เกษตรผสมผสาน / เกษตรอินทรีย์ / เกษตรธรรมชาติ / เกษตรทฤษฎีใหม่ และ วนเกษตร