ก.ล.ต. เผยผลงานรอบปีที่ผ่านมาบรรลุผลตามเป้าหมาย วางรากฐานตลาดทุนเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน ปรับวิธีกำกับดูแลให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล พร้อมเปิดเผยแผนยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพบริการตลาดทุน ตอบโจทย์การเป็นแหล่งระดมทุนและลงทุน เพื่อความมั่นคงทางการเงินให้แก่คนไทยในระยะยาว
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในด้านการเปิดให้คนไทยเข้าถึงบริการคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร โดยเปิดตัวโครงการ “5 ขั้นมั่นใจลงทุน” เพื่อตอบโจทย์ของการดูแลผู้ลงทุนโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมลูกจ้างให้มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การออกกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของธุรกิจและคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมส่งเสริมการวางรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยสร้างกลไกเชื่อมโยงการกำกับดูแลกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อดูแลความมั่นคง และป้องกันความเสี่ยงของทั้งระบบ และจัดทำความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อลดความซ้ำซ้อน อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน
ก.ล.ต. ได้ยกระดับมาตรฐานกำกับดูแลในหลายด้าน อาทิ การออกและเสนอขายตราสารหนี้ การสื่อสารความคาดหวังกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อสนับสนุนการให้บริการที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า (putting investors first) ส่งผลให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งริเริ่มให้ข้อมูลตลาดทุนอยู่ในรูปแบบ machine readable และ open API เพื่อให้มีผู้นำไปวิเคราะห์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุน ควบคู่กับการส่งเสริมรูปแบบการทำธุรกิจแบบ open architecture เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์สูงสุดสำหรับผู้ลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมินประสิทธิภาพการกำกับดูแลตลาดทุนเทียบกับมาตรฐานสากลในโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ทำให้มีการปรับปรุงและยกระดับตามมาตรฐานสากลในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเผยแพร่ผลการประเมินอย่างเป็นทางการในกลางปี 2562 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีถัดจากนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยในวงกว้างเข้าถึงคำแนะนำการวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระดมทุนและสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนรองรับยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ในการกำกับดูแลรองรับโลกอนาคต ก.ล.ต. จะเป็นผู้กำกับดูแลที่ปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และปรับปรุงประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้ลงทุนและระบบการเงินได้อย่างทันท่วงที โดยให้ความสำคัญกับการวางรากฐานองค์กรที่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของบุคลากร ก.ล.ต. และเน้นการวิเคราะห์และใช้เครื่องมือการกำกับดูแลที่หลากหลายที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว” นายรพี กล่าวสรุป
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2562 – 2564) ของ ก.ล.ต. ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่
- (1) สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพและประชาชนวงกว้างเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเข้าถึงบริการในการลงทุน ขณะที่ผู้ให้บริการแนะนำจะมีต้นทุนลดลง
- (2) สร้างโอกาสในการระดมทุนอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลที่ดี รวมถึงสนับสนุนกิจการและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจและสังคม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน
- (3) สร้างประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับกระบวนการและสมรรถนะโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบดิจิทัล เพื่อนำไปสู่บริการที่ดีและสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนและภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)
- (4) การกำกับดูแลที่เท่าทันกับโลกอนาคตและลดภาระให้กับภาคเอกชน โดยการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล สร้างกรอบเพื่อติดตามและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค ดำเนินการปฏิรูปกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
- (5) ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและการบริหารจัดการองค์กรโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการทำงาน การใช้เครื่องมือการกำกับดูแลที่หลากหลายเพื่อให้สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านต่าง ๆ