กฟผ.คว้า 12 รางวัล สุดยอดสิ่งประดิษฐ์จากเวทีนานาชาติ สะท้อนสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมพลังงานเพื่ออนาคต

กฟผ. คว้ารางวัลสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดจากการประกวดจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ในเวทีนานาชาติ 10th International Exhibition of Inventions (IEI 2018) ณ เมืองฝอซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคว้า 8 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน รวมถึงรางวัลพิเศษจากประเทศสิงคโปร์และประเทศอินเดีย เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมพลังงานเพื่ออนาคต

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในยุค Disruptive Technology ที่ต้องปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กฟผ. จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรมคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. สามารถคว้า 12 รางวัล จาก 9 ผลงาน ในเวที10th International Exhibition of Inventions (IEI 2018)” ณ เมืองฝอซาน สาธารณรัฐประชาชนจี

น เมื่อวันที่ 13 – 15 กันยายน 2561 โดยมีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงจากกว่า 40 ประเทศ

สำหรับผลงานที่ชนะการประกวดในครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ นวัตกรรมในอุตสาหกรรมไฟฟ้า ผลงาน“ระบบเฝ้าระวังความชื้นบริเวณอุปกรณ์ในระบบส่ง” ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลค่าความชื้นที่จะส่งผลให้ตัวฝุ่นนั้นกลายเป็นตัวนำไฟฟ้าและเกิดการวาบไฟที่ลูกถ้วยในระบบส่ง เพื่อแจ้งเตือนผลความรุนแรงใน 3 ระดับ คือ เฝ้าระวัง ปิดอุปกรณ์ Re-closer และ ปลดสายส่ง ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ในระบบส่ง สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้ จึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัล IFIA Best Invention Medal ซึ่งมอบให้กับสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดภายในงานเพียงชิ้นเดียว โดยในประเภทนี้ยังสามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินมาได้อีก 1 รางวัล จากผลงาน“อุปกรณ์แปลงสัญญาณตำแหน่ง TAP ของหม้อแปลง” ที่สามารถรับค่าแรงดันและความต้านทานในตัวเดียวกัน และส่งค่าตำแหน่ง TAP ของหม้อแปลงไฟฟ้าได้ตามความต้องการใช้งาน ช่วยให้การรักษาเสถียรภาพของหม้อแปลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนประเภทเทคโนโลยีด้านพลังงาน กฟผ. สามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง จากผลงาน“ตัวควบคุมการไหลประสิทธิภาพสูงสำหรับควบคุมการไหลของก๊าซไอเสียในหอกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์” สามารถลดการสูญเสียกำลังการผลิตที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอัตราการไหลของก๊าซไอเสียจนระบบควบคุมทางเดินก๊าซไอเสียของหอกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้ารวมมีเสถียรภาพมากขึ้น ผลงาน“ระบบทดสอบเซอร์โววาล์วอินเล็ทไกด์เวน” ช่วยให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเป็นไปตามแผนและลดต้นทุนการซื้อเซอร์โววาล์วตัวละกว่า 3 แสนบาท และผลงาน“S-Box อุปกรณ์วัดค่าพลังงานอัจฉริยะแสดงผลผ่านสมาร์ทโฟนในรูปแบบตัวเงินแบบประหยัด” ที่จะช่วยคำนวณค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนทราบค่าไฟฟ้าเดือนนั้นๆ ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศสิงคโปร์อีก 1 รางวัลด้วย ส่วนประเภทด้านความปลอดภัย กฟผ. ได้รับรางวัลเหรียญทอง 2 รางวัล จากผลงาน“อุปกรณ์ลดเสียงจากการทำงานของระบบระบายแรงดัน” สามารถช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ลดเสียงจากต่างประเทศได้ปีละกว่า 9 ล้านบาท และผลงาน “อุปกรณ์ตรวจสอบการทำงานของพัดลมระบายอากาศตู้ระบบควบคุม” ซึ่งจะช่วยให้ทราบตำแหน่งพัดลมระบายอากาศที่เสียหาย ทำให้สามารถซ่อมบำรุงได้เร็วขึ้น

 นอกจากนวัตกรรมด้านพลังงาน กฟผ. ยังพัฒนานวัตกรรมในด้านอื่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยโดยสามารถคว้าเหรียญทองในนวัตกรรมด้านสุขภาพจากผลงาน“ชุดกรองปลอดเชื้อต้นแบบสำหรับตรวจแบคทีเรียโคลิฟอร์มในน้ำดื่มภาคสนาม” ที่ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ผลการปนเปื้อนของน้ำดื่มได้ภายใน 3 – 12 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าวิธีมาตรฐานถึง 4 เท่า ซึ่งผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษจากประเทศอินเดียอีก 1 รางวัลด้วย ส่วนประเภทสุดท้ายเป็นนวัตกรรมด้านสาธารณูปโภคได้รับรางวัลเหรียญทองจากผลงาน“โปรแกรมคำนวณปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่ช่วยในการคำนวณปริมาณซื้อขายน้ำมันเตาสำหรับโรงไฟฟ้าได้ภายใน 2 นาที
“วันนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหัวใจสำคัญในกรขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต กฟผ. จึงมุ่งมุ่นสร้างนักวิจัย และนักประดิษฐ์ ในการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำไปพัฒนาประเทศทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจ สะท้อนสู่การเป็นองค์แห่งนวัตกรรมพลังงานเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ดร.จิราพร กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top