จากกรณีที่ผู้บริหาร บมจ. ท่าอากาศยานไทย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเข้าไปบริหารท่าอากาศยาน 4 แห่งของกรมท่าอากาศยาน โดยได้ขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนครเป็นท่าอากาศยานกระบี่นั้น
ล่าสุด กรมท่าอากาศยานออกมาคัดค้าน โดยระบุว่า หาก ครม. มีมติ ส่งมอบท่าอากาศยานกระบี่ ให้เป็น 1c ใน 4 ท่าอากาศยาน ที่จะให้ ทอท.เข้ามาบริหารแทน จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของกรมท่าอากาศยาน และจะทำให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ เนื่องจาก ในปัจจุบัน กรมท่าอากาศยาน มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง ในปี 2561 เป็นเงินจำนวนกว่า 852.4 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ในปี 2561 เป็นเงินกว่า 469 ล้านบาท คิดเป็น 55.05%
ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้วเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563 กรมท่าอากาศยานได้ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าวลง ดังนั้นจึงมองว่า หากเกิดผลกระทบกับรายได้และการบริหารท่าอากาศยานของกรมฯ ในส่วนที่เหลือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งเตรียมยื่นกระทรวงคมนาคม พิจารณาเรื่อง Management Contract หรือ PPP เพื่อความโปร่งใส