กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ สินค้าส้มจุกจะนะ มะม่วงเบาแปรรูป ผลิตภัณฑ์ตาลโตนด เร่งสร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทยโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า และแปรรูปสินค้าให้หลากหลาย เพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการค้าเกษตรกรไทย ขยายการส่งออกไปตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 6” ให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ชุมพร และสตูล ระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดสงขลา โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบปะวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ อ.จะนะ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาออก อ.สิงหนคร แปรรูปผลิตภัณฑ์มะม่วงเบา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง อ.สทิงพระ เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ในการขยายการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศต่างๆ ที่ไทยทำเอฟทีเอด้วย
ทั้งนี้ ไทยได้ทำเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยที่จะขยายตลาดและส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอมูลค่ากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์ตาลโตนด เป็นต้น
สำหรับวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยสินค้าส้มจุกจะนะมีความโดดเด่น คือ เป็นส้มที่มีความหอม รสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดประมาณ 3-4 ผลต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 บาท ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาออก อ.สิงนคร มีการแปรรูปมะม่วงเบา มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเบา 1,000 ไร่ ให้ผลผลิต 1,000 ตันต่อปี มีจุดเด่น คือ ผลเล็ก รสเปรี้ยว กรอบ มีวิตามินสูง มีการแปรรูปเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่ม น้ำมะม่วงเบา มะม่วงกวน และแยมมะม่วงเบา เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการขยายการจำหน่ายไปยังตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์
นอกจากนี้ ยังได้พบกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมใยตาลโหนดทิ้ง อ.สทิงพระ เป็นแหล่งปลูกตาลโตนดมากที่สุดในไทย มีผลผลิตมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ใยตาลมีจุดเด่นคือ เหนียว ไม่ขึ้นรา มีความมัน ย้อมสีไม่ได้ แต่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับงานหัตถกรรมที่มีความประณีตสวยงาม เช่น กระเป๋า หมวก ของประดับบ้าน เป็นต้น ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกไปตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และกัมพูชา และเป็นสินค้าที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อในการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะตลาดพรีเมี่ยม สำหรับผลตาล นำมาแปรรูปเป็นลูกตาลสด ลูกตาลน้ำกะทิ ลูกตาลลอยแก้ว น้ำตาลโตนด และตาลโตนดกระป๋อง
นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีซ แอนด์ รีสอร์ท อ.เมืองสงขลา เพื่อชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาดต่างประเทศ โดยกรมฯ ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาด มาติวเข้มวิเคราะห์สินค้าและแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากกลุ่มเกษตรกรภาคใต้กว่า 150 คน นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้นำสินค้ามาวิเคราะห์และร่วมจำหน่ายอย่างคึกคัก อาทิ ผ้าใยสับปะรด ผ้าย้อมใยกล้วย มะม่วงเบาแปรรูป ลูกหยีแปรรูป โดย กรมฯ เชื่อมั่นว่าการจัดงานครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรเห็นช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอในการทำการค้าระหว่างประเทศ