กสอ. ประกาศผลผู้ชนะรางวัล “ไทยสตาร์ แพคเกจจิ้ง อวอร์ด 2019” “เอเชียสตาร์ อวอร์ด 2018” และ “เวิล์ดสตาร์ อวอร์ด 2019”

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย “ไทยสตาร์ แพคเกจจิ้ง อวอร์ด 2019” ภายใต้หัวข้อ “บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน”จำนวนทั้งสิ้น 75 ผลงาน พร้อมมอบรางวัล “เอเชียสตาร์ อวอร์ด 2018” จำนวน 29 รางวัล หลังประเทศไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังมอบรางวัลเวิล์ดสตาร์ อวอร์ด 2019 แก่ผลงานชาวไทยอีกจำนวน 3 รางวัล ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้วงการบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวโลก


นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย หรือ Thai Star Packaging Awards มาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 42 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้แสดงความรู้ความสามารถ มีศักยภาพมากขึ้น และเพื่อให้ได้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น พร้อมเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดในระดับนานาชาติ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย (Asia star) และระดับโลก (World star) ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผู้ประกอบการ ให้มีเวทีแสดงความรู้ความสามารถและมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ สมาคมและสมาพันธ์ต่างๆ

สำหรับการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยประจำปี 2562 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกประเภทรวม 463 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 68 รางวัล ใน 8 ประเภทการประกวด และรางวัลพิเศษ 7 รางวัล รวมทั้งสิ้น 75 รางวัล โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท ได้แก่

1. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป (Student-Consumer Packaging : SC ) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวศิริลักษณ์ สร้อยทองร้อย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
2. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป (Student-Transportation Packaging : ST) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวชนิกานต์ สมยานะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
3. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป (Consumer Packaging : CP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 13 รางวัล
4. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Transportation Packaging : TP) มีผู้ประกอบการ ที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 8 รางวัล
5. ประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Packaging : EP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 10 รางวัล
6. ประเภทสื่อและบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งเสริมการขาย (Point of Purchase : POP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 8 รางวัล
7. ประเภทวัสดุบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบ (Packaging Meterial and Components : PMC) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 2 รางวัล
8. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด (New Designer Category : ND) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวธัญญาเรศ เปรมสง่า ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท

พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรนอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษอีก ได้แก่ รางวัลพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุน จากสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือ

1. รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป (SC) ผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นของนายธกร กำเหนิดผล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

2. รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นของบริษัท หนึ่งบรรจง จำกัด และบริษัท ซันไชน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

3. รางวัลพิเศษการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น รางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ นางสาวนวลวรรณ คงแสงไชย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัลวัลประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ นายวสันต์ แซ่ตั้ง บริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ส จำกัด (มหาชน) รางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ นางสาวธัญญาเรศ เปรมสง่า

อีกทั้งยังมีรางวัลพิเศษที่สนับสนุนโดยสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เป็นรางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป ผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ นางสาวพรพฤกษา จงศิริชัยกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จะมีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคเอเชีย (AsiaStar Awards) 2019 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประกวดรางวัลนานาชาตินี้ ในเดือนกันยายน 2562

ขณะเดียวกัน ในปี 2561 กสอ. ได้ส่งผลงานที่ชนะการประกวดในปีดังกล่าว เข้าประกวดระดับเอเชีย AsiaStar Awards 2018 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 31 ผลงาน ซึ่งประเทศไทยได้รับรางวัลมากถึง 29 รางวัล และได้รับรางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก Worldstar Award 2019 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ผลงานกล่องขนมไหว้พระจันทร์ ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ผลงานบรรจุภัณฑ์หมูแปรรูป New Premium 2018 ของบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และผลงานชั้นแสดงสินค้าเครื่องดื่มเบียร์สิงห์เพื่อการส่งออก ของบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด

“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ ให้มีความโดดเด่น ดึงดูดใจผู้บริโภค จะช่วยให้การตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าให้ดีขึ้น ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่าง สร้างการจดจำ และสื่อสารเอกลักษณ์สู่ผู้บริโภคได้เช่นกัน และในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดของเสียน้อยที่สุด และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable) ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” นายจารุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top