กสิกรฯ หั่น GDP ปีนี้ -6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 6 % ชี้ครึ่งปีหลัง ระวังว่างงานพุ่ง / เศรษฐกิจต่างประเทศ และการระบาดระลอก 2 คาดใช้เวลา 2 ปี เศรษฐกิจฟื้นเท่าปี 62

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยปี 63 เป็น -6% ตามสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งส่งผลให้ การบริโภค การใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มของรถยนต์ ไฟฟ้า ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจจากมาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ออกมา

ส่วนการส่งออกยังคงมองที่ -6.1% จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ ทำให้การส่งออก และนำเข้าทำได้ยาก และมีผลไปถึงซัพพลาย เชนอื่นด้วย รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะการถดถอย โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)เศรษฐกิจโลกปีนี้ น่าจะ -3% ซึ่งก็จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าด้วย

ทั้งนี้แม้ GDP ไตรมาสแรกของปีที่ -1.8% จะดีกว่าคาดการณ์ไว้ แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนที่แบงก์ชาติประกาศ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจหดตัวในทุกภาคส่วน ใช้จ่ายครัวเรือนติดลบมากขึ้น และการจ้างงานที่จะมีผลกระทบมากขึ้น คนตระหนักถึงความสำคัญของการออมมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนหดตัวมากขึ้น แต่ในเดือนพฤษภาคมหลังจากเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขดีขึ้นบ้าง แต่ก็คงไม่ทำให้กลับมาเป็นบวก ทำให้ประเมินการติดลบของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ลึกลงเป็นเลขสองหลัก ขณะที่ไตรมาส 3 และ 4 จะติดลบน้อยลง ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลา 2-3 ปีเศรษฐกิจจึงจะกลับมาขยายตัวเท่าช่วงปี 62 ขึ้นอยู่กับการประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสสำเร็จ ทั้งนี้ปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังในช่วงครึ่งปีหลังนั้น เป็นส่วนภาคต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยการเมืองและสถานการณ์โควิด -19 รวมถึงฝั่งยุโรปที่แม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ยังมีความเสี่ยง เนื่องจาก 2 กลุ่มนี้มีประมาณการนำเข้าที่สูงประมาณา 40% ของตลาดโลก รวมถึงการเฝ้าระวังการระบาดระลอก 2 ในประเทศเอง และตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น แม้จะมีจำนวนที่ลดลงกว่าไตรมาสที่ 2 แต่ก็ยังน่าจะมีตัวเลขการว่างจ้างตกค้างอยู่ระดับหนึ่ง ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมในจุดนี้ด้วย ส่วนค่าเงินบาทศูนย์วิจัยสกสิกรไทย มองว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 31.50- 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยพื้นฐานที่น่าจะกลับมาค่อยๆ ดีขึ้น ทั้งการควบคุมโควิดที่ดี และดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี น่าจะยังเป็นบวก แต่เงินบาทในระหว่างปีก็ยังมีความผันผวนตามสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามา

ขณะที่อัตราดอกบี้ยนโยบาย ณ ปัจจุบันที่ 0.50% นั้น ก็ถือว่ายังมีช่องเหลือให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อีกเล็กน้อยหากจำเป็น แต่ไม่ใช่นโยบายอัตราดอกเบี้ย 0 % หรือติดลบ เพราะมาตรการทางการคลัง จะมีบทบาทมากกว่าในการพยุงเศรษฐกิจ และก็น่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง และสัดส่วนหนึ้สาธารณะที่ 57%ของจีดีพีก็ยังอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้

Related Posts

Scroll to Top