การรถไฟฯ รับ กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีพี. คว้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด ที่ 1.17 แสนล้านบาท

การรถไฟฯ รับ กลุ่มกิจการร่วมค้า ซีพี. คว้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปด้วยการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด ที่ 1.17 แสนล้านบาท ต่ำกว่า กลุ่ม บีเอสอาร์ กว่า 5 หมื่นล้านบาท เตรียมเรียกเจรจาต่อรองราคา 3 ม.ค. นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งวันนี้เป็นการเชิญผู้แทนจากกิจการร่วมค้า เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง มาชี้แจงข้อสงสัยเพิ่มเติม จากการประชุมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา (ซอง3) ในครั้งที่แล้ว โดยกล่าวว่า การชี้แจงในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้กลุ่มซีพี.โฮลดิ้ง เป็นผู้ชนะการประมูลอย่างไม่เป็นทางการ โดยกลุ่มซีพี .เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ ที่เสนอขอรับอุดหนุน 169,934 ล้านบาท อยู่กว่า 5 หมื่นล้าน และในวันจันทร์ที่จะถึงนี้จะมีการเปิดซอง 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีผลต่อการประมูล

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะเรียกกลุ่มซีพี.มาเจรจาต่อรองราคาในวันที่ 3 ม.ค. 62 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนจะทำสัญญาเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอชื่อ ผู้ชนะการประมูลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในช่วงกลางเดือนม.ค.2562 และเดินหน้าลงนาม สัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.2562

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เมื่อผลการประมูลมีความชัดเจนถูกต้องตาม ทีโออาร์ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคึกคักมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโครงการที่เป็นรากฐานการลงทุนใน EEC ทั้งนี้เชื่อว่าจากความชัดเจนดังกล่าว จะส่งผลให้ปี 2562 มีการลงทุนภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาท ดันให้ จีดีพี ปีหน้าขยายตัวได้ 4% ตามเป้าที่คาดไว้

Scroll to Top