หลังจาก LINE TV ประกาศยุติการให้บริการในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เมื่อช่วงเที่ยงๆ ของวันนี้ (29 พ.ย.) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของวงการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง (Video Streaming) ในไทย
สำหรับ LINE TV นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการฟรีแบบมีโฆษณา ที่มีคู่แข่งอยู่ไม่กี่รายเท่านั้น แต่ก็เป็นไม่กี่รายที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการวิดีโอสตรีมมิง ตั้งแต่ Viu, WeTV และ iQIYI ส่วน bilibili นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมแอนิเมชันเอาไว้มากมาย
ด้านคู่แข่งที่ต้องเสียเงินรับชมเท่านั้นก็ยังมีอีกหลายเจ้า ทั้ง Netflix, Disney+, HBO Max, Amazon Prime Video, Apple TV+
ยังไม่นับรวม YouTube ที่มีคอนเทนต์หลากหลายไม่ต่างจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่กล่าวมาข้างต้นอีก
แล้ว LINE TV ถอนตัวเพราะสู้คู่แข่งไม่ไหว?
LINE TV นั้นมีคอนเทนต์ทั้งรายการ Rerun เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ ที่ออกฉายทางทีวี ส่วนที่ 2 คือ Original Content ที่จับมือกับผู้จัดต่างๆ ผลิตคอนเทนต์มาออกอากาศบน LINE TV เท่านั้น และส่วนสุดท้าย คือการรับชมสดไปพร้อมกับทีวี เฉพาะกับพาร์ตเนอร์ที่ร่วมมือกันเท่านั้น
เมื่อลองมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากต่างชาติที่เข้ามาทำตลาดในไทย
ด้านซีรีส์จีน เกาหลี ต้องยอมรับว่ากระแสของ Viu, WeTV และ iQIYI นั้นมาแรงมากๆ ในยุคนี้ แต่ถ้าจะเจาะไปที่ซีรีส์เกาหลี ก็มีอีกค่ายหนึ่งที่สร้างกระแสได้ถล่มทลายหลายต่อหลายครั้ง ก็คือ Netflix
ขณะที่ Disney+ เจาะลูกค้าอีกกลุ่มที่ชื่นชอบหนังและซีรีส์ของค่าย Marvel, Star Wars รวมถึงการ์ตูนของ Disney Pixar ที่ครองใจเด็กๆ มาหลายยุคสมัย
ส่วนสายแอนิเมชันเอเชีย มี bilibili เข้ามาตีตลาดในไทย ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่รวมแอนิเมชันไว้มากที่สุดที่เข้ามาทำตลาดในไทย
และไม่ใช่เพียง LINE TV เท่านั้นที่ต้องสู้รบกับแพลตฟอร์มต่างชาติ เพราะแม้แต่แพลตฟอร์มอย่าง Apple TV+ และ Amazon Prime Video ที่เหมือนจะเข้ามาทำตลาดในไทยแต่ก็ยังดูไม่ค่อยเต็มตัวเท่าไร ส่วน ยังไม่ HBO Max นั้นเป็นเจ้าใหญ่ในสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ซึ่งส่วนตัวมองว่าการที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังไม่เข้ามาในตลาดไทย เพราะจำนวนกลุ่มลูกค้าเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องลงทุน และยังต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดที่เข้ามาก่อนหน้าอีกด้วย
เพราะปัจจุบันการแข่งขันเพื่อเอาชนะในธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นเป็นรูปแบบ “Winner Takes All” เงินทุน คอนเทนต์ และยอดสมาชิกลูกค้า จึงมีความสำคัญมาก
ซึ่งแพลตฟอร์มจากต่างประเทศได้เปรียบกว่า LINE TV ในทุกด้าน เพราะถ้าภาพรวมยังทำได้ดีจากประเทศตัวเอง และมีแนวโน้มหาลูกค้าใหม่ๆ ในไทยเพิ่ม ก็คุ้มค่าต่อการแข่งขันในระยะยาว แม้แต่ Influencer สายรีวิวหนัง ซีรีส์ ก็ยังหันไปทำรีวิวของแพลตฟอร์มต่างชาติมากขึ้น เพราะกลุ่มนี้มีกำลังทรัพย์เข้ามาสนับสนุนมากกว่า
ด้านลูกค้า LINE TV เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าผู้ใช้ LINE ที่มีจำกัดในประเทศไทย แต่แพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นๆ นั้นมีฐานลูกค้ามาจากประเทศต้นทาง และการมาทำตลาดในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงการชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเท่านั้น
ส่วนด้านความหลากหลายของคอนเทนต์ และความพรีเมียมของคอนเทนต์ ที่ใช้ดาราดังในระดับเอเชีย หรือระดับโลก แพลตฟอร์มจากต่างประเทศได้เปรียบกว่าอย่างชัดเจน และต้องยอมรับว่าผู้ชมในปัจจุบันต้องการความแปลกใหม่จากหนังและซีรีส์ตลอดเวลา
การจากไปของ LINE TV กระทบอะไรไหม?
การปิดตัวของ LINE TV นั้นจะกระทบ 2 สิ่ง คือ ด้านผู้ชม และด้านผู้ผลิตคอนเทนต์
สำหรับด้านผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ทำคอนเทนต์ออริจินัลลง LINE TV ก็อาจจะต้องหันไปจับมือกับแพลตฟอร์มอื่นแทน อาจจะต้องใช้เวลาสร้างการรับรู้สักระยะหนึ่ง
ด้านผู้ชม จะกระทบเฉพาะผู้ที่ติดตามคอนเทนต์ที่เคยติดตามผ่านทาง LINE TV ได้ที่เดียวเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นไปได้
สุดท้ายนี้ การจากไปของ LINE TV อาจจะแทบไม่กระทบกับวงการวิดีโอสตรีมมิงเลย…
สำหรับ LINE TV นั้นเปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2558 และยุติการให้บริการในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวมเวลาการให้บริการทั้งสิ้น 6 ปี 9 เดือน