คมนาคมเตรียมเสนออาเซียนพิจารณาเชื่อมโยงการบินระหว่างสนามบินรองเป็นครั้งแรก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอประเด็นการเชื่อมโยงการบินระหว่างสนามบินรองในอาเซียน เข้าที่ประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ทิศทางการพัฒนาประเทศ กับการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคอาเซียน ภายในงานเสวนา “Advancing ASEAN Single Aviation Market (ASAM) The Seamless ASEAN Skies” โดยได้หยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยการบินของไทย หลังจากสามารถแก้ไขปัญหาและปลดธงแดงจาก ICAO ได้ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการบินพลเรือนของไทย พร้อมระบุ อุตสาหกรรมการบินจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการบินของไทย ทั้งการพัฒนาสายการบินให้ได้มาตรฐาน การส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน(OEM) ที่กำลังดำเนินการภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นสนามบินใหญ่ เท่าสุวรรณภูมิ ภายในปี 2033​ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน และมีการเพิ่มมูลค่าพื้นที่อู่ตะเภา 6,000 ไร่ ให้เป็นแอร์พอร์ตซิตี้​ การเตรียมรองรับการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านคมนาคมอาเซียน และระดับรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอประเด็นการเชื่อมโยงการบินระหว่างสนามบินรองของแต่ละประเทศ เพื่อให้การเชื่อมโยงการเดินทางทำได้แบบไร้รอยต่อ ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในสนามบินของเมืองหลักเท่านั้น โดยเรื่องนี้จะถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในที่ประชุมระดับอาเซียน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ที่ผ่านมาไทยได้มีการเจรจาเรื่องนี้ในระดับอนุภูมิภาค และรายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย กับไทย ที่ได้เจรจาขอสิทธิทางการบินระหว่างกันไปแล้ว โดยสนามบินรองที่มีศักยภาพสามารถขยายขีดความสามารถสู่การเป็นสนามบินนานาชาติได้ ประกอบด้วย สนามบินขอนแก่น , อุดรธานี , กระบี่ , สมุย, ระนอง , ชุมพร , ลำปาง และ แม่สอด เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยานเข้าพิจารณาปรับปรุงให้สนามบินได้มาตรฐาน ICAO และเพิ่มขีดความสามารถ ขยายรันเวย์ให้รองรับ เครื่องบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น

นอกจากนี้จะต้องหารือเรื่องมาตรฐานของสนามบินในอาเซียนให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันและต้องเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ​(ICAO)

อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเรื่องการหาแรงงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการบิน โดยได้ชักชวนมหาวิทยาลัยหารือกับกระทรวงจัดทำหลักสูตร พัฒนาแรงงาน ด้านการบิน และ แรงงานด้านรถไฟ ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก และต้องการบุคคลากรจำนวนมาก

 

Related Posts

Scroll to Top