จีนลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2019 เหลือ 6.0-6.5% เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้านและยุติสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

ปิดฉากการประชุมสองสภาประจำปี 2019 จีนประกาศลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจเหลือ 6.0-6.5% ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน ประกอบกับความเสี่ยงและความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่รุนแรงและซับซ้อนขึ้น จีนปรับทิศทางนโยบายการคลังและการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในปี 2019 เพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศได้ ทั้งนี้อีไอซีมองว่าจีนจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะการชะลอตัวอย่างรุนแรง (Hard landing) ได้ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง พร้อมด้วยเครื่องมือทางการคลังและการเงินที่หลากหลาย แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจีนจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด เศรษฐกิจโลกและไทยจะได้รับผลกระทบผ่านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

การประชุมสองสภาคืออะไร?

Two Sessions 2019 หรือ การประชุมสองสภาประจำปี 2019 คือการประชุมที่สำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองประจำปีของจีน โดยเริ่มต้นด้วยการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) ในวันที่ 3 มีนาคม ต่อด้วยการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ในวันที่ 5 มีนาคม และปิดฉากลงในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา การประชุมสองสภาในปี 2019 นี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะมีการรายงานและประเมินผลงานของรัฐบาลในปีที่ผ่านมาแล้ว ทั่วโลกต่างจับตามองทิศทางเศรษฐกิจจีนจากการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมและการแถลงนโยบายของปี 2019 ตลอดจนการวางแผนยุทธศาสตร์ในระยะข้างหน้า

เป้าหมายและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีนในปี 2019

นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงเริ่มการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในวันแรกด้วยการยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญหน้ากับความผันผวนและความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ภาวะการเงินโลกที่ซับซ้อน และสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ประกอบกับศึกภายในประเทศสามด้าน (The Three Critical Battles) ได้แก่ ความเสี่ยงในภาคการเงิน ความยากจน และมลภาวะ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปี 2019 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2018 นอกจากนี้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2019 ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ

ท่ามกลางความเสี่ยงภายในและภายนอกที่รุมเร้า นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงประกาศลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเหลือเพียง 6.0-6.5% ในปี 2019 ซึ่งเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ไว้ โดยจะดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุก (Proactive fiscal policy) และนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างรอบคอบ (Prudent monetary policy) เพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้า พัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และสร้างเสถียรภาพในภาคการเงิน รวมทั้งผลักดันให้จีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศและนวัตกรรม พร้อมทั้งเดินหน้าปฏิรูปการค้าและการลงทุนภายในประเทศเพื่อยุติความขัดแย้งกับสหรัฐฯ

นโยบายการคลัง: จีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบด้านด้วยการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ สนับสนุนภาคธุรกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านหยวน 

จีนตั้งการขาดดุลการคลัง 2.8% ของ GDP ในปี 2019 เพิ่มการใช้จ่ายด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ การขาดดุลการคลังที่ 2.76 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากปี 2018 แต่หากรวมการใช้จ่ายของภาครัฐนอกงบประมาณ (Off-budget) การขาดดุลการคลังอาจเพิ่มขึ้นอีกราว 1% ของ GDP ในปี 2019 ทั้งนี้การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยแบ่งเป็นงบประมาณของรัฐบาลกลางมูลค่า 5.77 แสนล้านหยวน (เพิ่มขึ้น 7.5%YOY) และการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษ (Special local government bonds) มูลค่า 2.15 ล้านล้านหยวน (เพิ่มขึ้น 60%YOY) โครงการลงทุนสำคัญได้แก่ การก่อสร้างทางรถไฟมูลค่า 8 แสนล้านหยวน อาทิ ทางรถไฟ Sichuan-Tibet และการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำรวมมูลค่า 1.8 ล้านล้านหยวน รวมถึง การก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างเมือง ระบบการบินพลเรือนและพาณิชย์ และระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ ทั้งนี้รัฐบาลท้องถิ่นได้ออกพันธบัตรไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านหยวนในไตรมาสแรกของปี 2019  (รูปที่ 3)

จีนสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเต็มกำลังนำโดยการลดภาระภาษีและค่าใช้จ่ายรวมมูลค่า 2 ล้านล้านหยวน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รัฐบาลลดภาระภาษีให้กับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมด้วยการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ (VAT) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตจาก 16% เหลือ 13% และสำหรับการก่อสร้างและการคมนาคมจาก 10% เหลือ 9% แต่ยังคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 6% สำหรับภาคการบริการ โดยเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับการให้บริการผู้ผลิตและผู้บริโภคแทน มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2019 (ตารางที่ 1) รัฐบาลยังเน้นการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ SMEs ที่มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนหยวนต่อเดือน จากเดิมที่น้อยกว่า 3 หมื่นหยวนต่อเดือน พร้อมทั้งลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 5% ถ้ามีรายได้ที่ต้องเสียภาษีไม่เกิน 1 ล้านหยวนต่อปี และเหลือ 10% ถ้ามีรายได้ที่ต้องเสียภาษีมากกว่า 1 ล้านหยวนแต่ไม่เกิน 3 ล้านหยวนต่อปีจากระดับสูงสุดที่ 20% สำหรับการลดภาระค่าใช้จ่าย รัฐบาลจะลดสัดส่วนเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างลงจาก 19-20% เหลือ 16% แต่จะยังคงรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างให้เหมือนเดิม รัฐบาลไม่เพียงแค่ช่วยลดภาระทางการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกันด้วย โดยรัฐบาลจะยกระดับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงจะปฏิรูปการดำเนินกิจการสาธารณูปโภคผูกขาดซึ่งรวมถึง พลังงาน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และรถไฟให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

จีนออกมาตรการสนับสนุนเพื่อเร่งการบริโภคและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ต่อเนื่องจากแก้กฎหมายภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (Individual Income Tax) เพื่อเพิ่มระดับรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีจากเดิม 3,500 หยวนเป็น 5,000 หยวนต่อเดือนในเดือนตุลาคม 2018 และการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สุขภาพ ผู้สูงอายุ และที่อยู่อาศัยในเดือนมกราคม 2019 รัฐบาลวางแผนที่จะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมในการเพิ่มรายได้ของประชาชนทั้งในเมืองและในชนบทเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยสองมาตรการสำคัญคือ 1) การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน และ 2) การส่งเสริมการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยการสนับสนุนการ

เข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับความต้องการของประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนสูงถึง 250 ล้านคนในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และการบริการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงการศึกษาขั้นต้นเพื่อเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในอนาคต ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานกว่า 11 ล้านตำแหน่งในปี 2019 ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาสายอาชีวะเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะอย่างยั่งยืน

นโยบายการเงิน: ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับทิศทางนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการคุมเข้มการก่อหนี้

ธนาคารกลางจะยังคงรักษาเสถียรภาพในภาคการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมการก่อหนี้ในภาคธนาคารเงาและธุรกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการที่จำเป็นในการเพิ่มการขยายตัวของสินเชื่อในระบบให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยผลของมาตรการดังกล่าวทำให้สินเชื่อในระบบกลับมาเร่งตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 หลังจากการชะลอตัวตลอดทั้งปี 2018 (รูปที่ 4) ทั้งนี้คาดว่าธนาคารกลางจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดลงในปี 2019 และมีแนวโน้มลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) ลงอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 13.5% สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และ 11.5% สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก (รูปที่ 5) ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องในภาคธนาคารเพื่อส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs จะได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากธนาคารของรัฐด้วยเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 30% ให้แก่ธุรกิจ SMEs ในขณะเดียวกันธนาคารกลางจีนประกาศใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะกลางแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Medium-Term Lending Facility: TMLF) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือใหม่ในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและ SMEs โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3.15% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราของสินเชื่อเพื่อสภาพคล่องระยะกลาง (Medium-term Lending Facility: MLF) เดิมที่ 3.30% นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังมีมาตรการส่งเสริมการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนเพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการระดมทุนอีกทางหนึ่งด้วย

การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ: จีนเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างการค้าและการลงทุนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเจรจาหาข้อตกลงกับสหรัฐฯ

จีนมีท่าทีประนีประนอมกับสหรัฐฯ มากขึ้นจากการยอมตกลงเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในการเจรจาการค้าเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศคงอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% พร้อมทั้งเลื่อนการเจราจาการค้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยหมวดสินค้าที่จีนยอมซื้อเพิ่มจากสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าเกษตร ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพดและข้าว มูลค่าราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าพลังงาน ได้แก่ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว นอกจากนี้ยังคาดว่าจีนอาจพิจารณาเพิ่มการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จาสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีมูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยรวมของจีนอาจมีมูลค่าสูงถึงสูงถึง 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2020

กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่นอกจากจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของธุรกิจต่างชาติในจีนแล้ว ยังเป็นก้าวสำคัญที่จีนจะใช้ต่อรองการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ถูกแก้ไขเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขในการทำธุรกิจสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติในจีน โดยเฉพาะมาตราสำคัญ ได้แก่ 1) การปฏิบัติต่อธุรกิจต่างชาติในจีนอย่างเท่าเทียม ทั้งในการเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาต การเข้าถึงแหล่งวัตุดิบ การดำเนินธุรกิจ และความสัมพันธ์กับภาครัฐ 2) การยกเลิกการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และ 3) การเพิ่มบทลงโทษการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2020 ทั้งนี้คาดว่าจีนจะออกกฎหมายลูกและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพิ่มเติม พร้อมทั้งเตรียมปรับลดจำนวนรายการธุรกิจที่ไม่เปิดเสรีใน Negative list สำหรับนักลงทุนต่างชาติลงอีกในปี 2019 เพื่อเปิดเสรีภาคธุรกิจทั้งด้านการผลิตและการบริการบางส่วน นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติอาจมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่ภาครัฐอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของจีนคือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปรับโครงสร้างการทำธุรกิจในจีนให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 หายไปแต่นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคยังคงอยู่ เป้าหมายของจีนในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ได้รับการวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคภายในประเทศได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างชัดเจน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจต่างชาติ ดังนั้นในการแถลงนโยบายปี 2019 นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึง Made in China 2025 โดยตรง แต่เน้นย้ำว่าจีนจะเร่งสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ เครื่องมือไฮเอนด์ ยาชีวภาพ และยานพาหนะพลังงานทางเลือกใหม่ โดยมีเป้าหมายเช่นเดียวกับ Made in China 2025 คือ “Buy China”

นัยต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกผ่าน 3 ช่องทางคือการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว

  • การส่งออก: จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในหลายประเทศทั่วโลก การส่งออกไปจีนของสหรัฐฯ และสิงคโปร์หดตัว ขณะที่การส่งออกไปจีนจากสหภาพยุโรปและฟิลิปปินส์ชะลอตัวอย่างมากในปี 2018 สำหรับไทย การส่งออกของไปจีนเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงที่ 14%YOY ในเดือนกันยายน 2018 และต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 จากเดิมที่ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักในปี 2017 (รูปที่ 6) แสดงให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานของจีนที่เชื่อมโยงกับไทยและอีกหลายประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ทั้งนี้คาดว่าผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเองและการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานจีนครั้งใหญ่จากการที่จีนตกลงเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงไทย (รูปที่ 7) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกสินค้าสำคัญให้แก่จีน โดยมีสินค้าหลักคือ วัตถุดิบอุตสาหกรรมและสินค้าขั้นกลาง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • การลงทุน: การลงทุนโดยตรงจากจีนอาจเพิ่มขึ้นได้จากทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรัฐบาลจีนส่งเสริมให้บริษัทสัญชาติจีนลงทุนในต่างประเทศภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) ส่งผลให้การลงทุนจากจีนในบางประเทศสมาชิกอาเซียนอาทิ ฟิลิปปินส์ และประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและทางรถไฟความเร็วสูง ในระยะข้างหน้าคาดว่าการลงทุนของจีนภายใต้โครงการ BRI จะขยายไปยังสหภาพยุโรปด้วย จากท่าทีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่สนับสนุนโครงการนี้มากขึ้น นอกจากนี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอาจสร้างแรงกดดันให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่สหรัฐฯ มุ่งเป้าโจมตี ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ด้วยความพร้อมของประเทศในการต่อยอดอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเครื่องจักร การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และการบริการ โดยมีบริษัทข้ามชาติที่ประกาศแนวโน้มกระจายการผลิตออกจากจีนมาไทยแล้ว ได้แก่ Delta electronics power

(Dongguan) และ Merry Electronics ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน ด้วยเงินลงทุนราว 10 และ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ และ Toshiba Machinery (Shanghai) ผู้ผลิตเครื่องจักรสัญชาติญี่ปุ่น นอกจากนี้ นักลงทุนจีนเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น การผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 ส่งผลให้การลงทุนของจีนในไทยยังคงโต 13.4%YOY ในปี 2018 และคาดว่าจะโตต่อเนื่องในปี 2019 อย่างไรก็ตาม ไทยเผชิญการแข่งขันในการดึงดูดบริษัทต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากกว่าไทย หรือกัมพูชาที่มีค่าแรงต่ำกว่าไทยโดยปรียบเทียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามที่มีความได้เปรียบในด้านข้อตกลงทางการค้าจำนวนมากเช่น CPTPP และข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (ตารางที่ 2)

  • นักท่องเที่ยวจีน: ในปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนแตะ 150 ล้านรายทั่วโลก เพิ่มขึ้น 7%YOY และยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนยังสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2019 และระยะข้างหน้าคาดว่าชาวจีนจะออกมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพราะตัวเลขชาวจีนที่มีหนังสือเดินทางในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด ประกอบกับประชากรรายได้ปานกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนย่อมได้รับผลบวกนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของไทยคือการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในระดับสูงราว 30% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูง หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเกินกว่าที่คาดและรัฐบาลจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจะส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อประเทศเหล่านี้
ตารางที่ 2: รายชื่อบริษัทต่างชาติที่ประกาศแนวโน้มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
ประเทศ บริษัท สัญชาติ อุตสาหกรรม รายละเอียด
ไทย Panasonic ญี่ปุ่น เครื่องเสียงรถยนต์
Toshiba Machine Co. (Shanghai) ญี่ปุ่น เครื่องขึ้นรูปพลาสติก (ส่งออกไปยังสหรัฐฯ) พิจารณาย้ายฐานการผลิตไปญี่ปุ่นหรือไทยในเดือนตุลาคม 2019
Merry Electronics Co. ไต้หวัน หูฟัง Bose พิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปทางตอนใต้ของจีนหรือไทย
Daikin Industries ญี่ปุ่น คอมเพรสเซอร์
Delta electronics power (Dongguan) ไต้หวัน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนสำหรับสมาร์ทโฟน ขยายการลงทุนมายังไทยเพื่อแทนที่ฐานการผลิตเดิมในทางตอนใต้ของจีน
กัมพูชา Steve Madden Ltd. สหรัฐฯ กระเป๋าและรองเท้า วางแผนเพิ่มการผลิตในกัมพูชา

เป็น 30% ภายในปี 2019

Vera Bradley สหรัฐฯ กระเป๋าเดินทาง

และกระเป๋าถือ

พิจารณาย้ายฐานการผลิตไป

กัมพูชาและเวียดนาม

Trek Bicycle สหรัฐฯ จักรยาน วางแผนย้ายฐานการผลิตจักยานราว 200,000 ไปกัมพูชา (A&J กัมพูชา)
Kent International สหรัฐฯ จักรยาน วางแผนย้ายสัดส่วนการผลิตส่วนใหญ่ไปกัมพูชาในช่วงต้นปี 2019 และเริ่มส่งออกภายในเดือนกันยายน 2019
เวียดนาม Tapestry Inc. สหรัฐฯ กระเป๋าถือ ขยายฐานการผลิตไปเวียดนาม
Sintai จีน เฟอร์นิเจอร์ ย้ายการผลิต 20% ไปเวียดนาม
Man Wah Holdings ฮ่องกง เฟอร์นิเจอร์ ซื้อโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในเวียดนาม
Zhejiang Hailide

New Material

จีน โพลีเอสเตอร์ สร้างโรงงานใหม่ในเวียดนาม
Second Generation (BeBop and Gypsies & Moondust Lables) สหรัฐฯ เครื่องแต่งกายเด็ก ย้ายการผลิตบางส่วนไปเวียดนาม
Yokowo ญี่ปุ่น ชิ้นส่วนเครื่องเสียงรถยนต์ ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดไปเวียดนาม

ภายในปี 2019

HL Corp. จีน ชิ้นส่วนจักรยาน ย้ายการผลิตบางส่วนไปเวียดนาม
Hon Hai Precision (Foxconn Technology Group) ไต้หวัน ส่วนประกอบ iPhone เช่าพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมของเวียดนาม

ในเดือนมกราคม 2019

GoerTek จีน หูฟังไร้สาย iPhone ย้ายการผลิตบางส่วนไปเวียดนาม
Key Tronic สหรัฐฯ อิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนในโรงงานใหม่ในเวียดนาม

คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2019

มาเลเซีย Panasonic Corp. สหรัฐฯ อิเล็กทรอนิกส์ ย้ายฐานการผลิตไปมาเลเซีย

และส่งออกจากมาเลเซีย

Kayamatics ฮ่องกง อุปกรณ์ IoT พิจารณาย้ายฐานการผลิตไป

กัมพูชาและเวียดนาม

 

อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถรักษาระดับการเติบโตตามเป้าหมายและหลีกเลี่ยงภาวะการชะลอตัวอย่างรุนแรง (Hard Landing) ในปี 2019 ได้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจากส่วนกลางของจีนมีความรวดเร็วและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางปี 2018 และต้นปี 2019 และการขยายตัวของสินเชื่อในระบบที่กลับมาเร่งตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ประกอบกับความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังและการเงินของจีน (policy space) โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังสำคัญในปี 2019 ได้แก่ การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการลดภาระภาษีและค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจ มูลค่า 5 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของ GDP ในปี 2019 ซึ่งต่ำกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2008-2009 ที่ 12.5% ของ GDP ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังคงระดับเดิมที่ 4.35% สะท้อนให้เห็นว่าจีนยังสามารถใช้เครื่องมือทางการคลังและการเงินที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยฉุดที่สำคัญคือความไม่แน่นอนสงครามการค้ากับสหรัฐฯ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ 10% – 25% สำหรับสินค้าจีนรวมมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการส่งออกของจีน โดยหดตัว 4.6% และ 21.2% ในเดือนธันวาคม 2018 และกุมภาพันธ์ 2019 ตามลำดับ และภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มชอละตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและดัชนีย่อยยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ 50 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 แต่หากลองพิจารณาอีกด้านหนึ่ง การเจรจาการกับสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยเร่งผลักดันให้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของจีนมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปเป็นขับเคลื่อนด้วยการบริโภค ดังนั้น ทั่วโลกต่างจับตามองเศรษฐกิจจีนในปี 2019 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ภูมิภาค และรายประเทศ รวมถึงไทย โดยผ่านความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนภายนอกและนักท่องเที่ยวของจีน

Scroll to Top