ดีป้า เผยความสำเร็จการดำเนินกิจกรรม Digital Content-Driven E-Commerce Workshop ทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการธุรกิจชุมชมที่ขายสินค้าท้องถิ่นและผู้ที่สนใจขายสินค้าท้องถิ่นผ่าน Social Commerce เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 150 ราย สามารถสร้างร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้กับสินค้าและบริการชุมชน 75 ร้านค้า
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ขยายผลการดำเนินโครงการ CONNEXION จัดกิจกรรม Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัลคอนเทนต์ รอบกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับทักษะการตลาดในยุคดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น พร้อมร่วมพบปะหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศผ่าน E-Commerce โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึง คุณเบลล์ หรือนายพิชิตชัย โพธิ์ศิริ และกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ด้านการตลาดและการเพิ่มยอดขายบน TikTok ร่วมให้ความรู้แบบเจาะลึก
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจ ทั้งในภาคการผลิต และการบริหารจัดการ โดยโครงการ CONNEXION นับเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขายสินค้าและบริการ โดยการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคนิคการขายให้สอดคล้องไปกับแพลตฟอร์มการขาย หรือ Social Commerce ต่าง ๆ อีกทั้งเป็นการสร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ มากกว่า 70,000 ราย นอกจากนี้ โครงการ CONNEXION ยังมีกิจกรรม Workshop ที่ส่งผลให้เกิดการเจรจาธุรกิจและการจ้างงานมากกว่า 400 ราย รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Commerce ในชื่อ eTailligence ที่ทำหน้าเป็นแพลตฟอร์มกลางในการให้บริการผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อยอดการนำข้อมูลด้าน E-Commerce ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
“สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้คือ Digital Content-Driven E-Commerce Workshop: การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มยอดขายด้วยดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นการดำเนินงานเพื่อขยายผลสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งกระจายการดำเนินการใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร) มีผู้ประกอบการธุรกิจชุมชมที่ขายสินค้าท้องถิ่นและผู้ที่สนใจการขายสินค้าท้องถิ่นผ่าน Social Commerce ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้นกว่า 150 ราย สามารถสร้างร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้กับสินค้าและบริการในชุมชนกว่า 75 ร้านค้า โดย ดีป้า เชื่อว่าจากการดำเนินงานครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดจะสามารถกระจายองค์ความรู้ต่อไปยังประชาชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ และช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเวทีสำคัญในการพบปะหารือของผู้ประกอบการและบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ โดยผู้ประกอบการได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในหลากหลายด้าน โดย ดีป้า จะนำประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการพูดคุยไปเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางการติดตาม ต่อยอด แก้ไข และขยายผลในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมระบบนิเวศดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ประกอบการในพื้นที่และอินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่น เพื่อผลักดันการเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชน สร้างการรับรู้ และโอกาสทางการตลาด รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกช่วงวัยให้เข้าถึงองค์ความรู้ เพื่อยกระดับธุรกิจสินค้าชุมชนให้มีตัวตนในโลกการค้ายุคดิจิทัล และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจยกระดับทักษะด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์สามารถเติมทักษะได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม www.HACKaTHAILAND.com/CONNEXION หรือติดตามโครงการต่าง ๆ จาก ดีป้า ได้ที่ Facebook depa Thailand หรือ www.depa.or.th