โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ของโลก ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่านมา กกร. เห็นว่าการที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลจากความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งความพยายามลดขั้นตอนการขออนุมัติหรือการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการให้บริการภาครัฐ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีขึ้น
• โครงการ ชิมช้อปใช้ เฟสแรก และเฟสสอง ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะขยายโครงการเฟส 3 ต่อ อีก โดยทาง กกร. มองว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบได้มากขึ้น
• กรณีที่สหรัฐฯ ได้ประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) กับไทย จำนวน 573 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 ซึ่งทำให้สินค้าบางรายการที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้า 4-5% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแม้ผลกระทบเบื้องต้นในภาพรวมต่อการส่งออกอาจมีจำกัด โดยจะตกอยู่ที่หมวดสินค้าที่อัตราภาษีเพิ่มขึ้นมากและมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ น้อย เช่น ตะกั่วบริสุทธิ์ กุญแจที่ใช้กับยานยนต์ ชิ้นส่วนของเครื่องจักรโรงงาน
สารประกอบอินทรีย์และอนินทรีย์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กกร. เห็นว่า ภาครัฐควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนถึงเงื่อนเวลาที่จะมีการตัดสิทธิ และควรจะต้องมีมาตรการดำเนินการต่อ ดังนี้
- 1) ประสานงานเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงแรงงาน
- 2) การจัดทำ Early Warning สำหรับสินค้าที่อาจถูกตัดสิทธิในลำดับต่อไป และ
- 3) นำประเด็นนี้เข้าหารือในการประชุม กรอ. (พาณิชย์) และสมาคมการค้าสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ทางภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนโดยให้การสนับสนุนในการพัฒนายกระดับคุณภาพสินค้าและการเจาะตลาดใหม่ๆ พร้อมทั้งดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้แข่งขันได้ยิ่งขึ้น
• จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ที่ลดตัวลง สะท้อนว่าอาจจะยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นของ GDP ในไตรมาสที่ 3/2562 หลังจากช่วงครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวเพียง 2.6% (YoY) โดยในไตรมาส 3/2562 การส่งออกหดตัวเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น จากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนและอานิสงส์จากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrivals ทั้งนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐอยู่ระหว่างการหารือมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เช่น การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นต้น
• มองไปข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากทิศทางเศรษฐกิจหลักในโลกที่ชะลอลง ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน (แม้อาจเจรจากันได้) รวมถึงเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่จะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย นอกจากนี้ สถานการณ์คำสั่งซื้อจากการส่งออกที่ชะลอลง หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจสร้างผลกระทบต่อประเด็นการจ้างงานและกำลังซื้อภายในประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2562 แสดงให้เห็นว่า ตัวเลขการจ้างงานได้ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องกันมา 4 เดือนแล้ว
• สำหรับประเด็นการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ที่ประชุม กกร. เห็นว่า ภาคเอกชนควรจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทที่แข็งค่าเร็วซึ่งอาจจะยังส่งผลกระทบมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีหน้า โดยคงจำเป็นต้องมีการทบทวนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มระยะเวลาการพักเงินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกเร็วขึ้น เป็นต้น รวมไปถึงการผลักดันให้โครงสร้างการส่งออกมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ ในระยะสั้น กกร. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระหว่าง กกร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางดำเนินการต่อไป สำหรับในระยะกลางและระยะยาว ภาคเอกชนจะเร่งการพัฒนาด้านต้นทุนและราคา โดยต้องพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าไทยให้มีศักยภาพ
• ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2562 ไว้ตามเดิม แต่จะติดตามและประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป