“น้ำตา” ของธุรกิจการบิน จากโควิด-19

การเดินทางท่องเที่ยวใครก็รู้ ใครก็ชอบ โดยเฉพาะการไปเที่ยวต่างประเทศกับคนไทยแทบจะเป็นของคู่กัน อย่างในปี 2562 แนวโน้มคนไทยมีค่าเฉลี่ยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยที่สุดในโลก เฉลี่ย 3.9 ทริปต่อปี

เรื่องการบิน กับ คนไทย คงไม่ต้องเล่ากันให้มากความ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ ฮ่องกง ไต้หวัน ไปจนถึงยุโรป เรื่องนี้ส่งผลให้สายการบินของไทย เปิดเส้นทางบินต่างประเทศกันคึกคักเลยทีเดียว

แถมการดึงลูงค้าก็ขนโปรชุดใหญ่ไฟกะพริบ โปรไฟไหม้ โปรเออรี่เบิร์ด สารพัดโปรแย่งลูกค้ากันเต็มกำลัง แต่ภาพความสวยงามเหล่านั้น… ต้องยอมรับว่าถูกกระชากขายไปในทันตา จากการมาของ “โควิด-19”

ปิดประเทศ ไม่บินเข้า ไม่บินออก ทุกอย่างหยุดนิ่ง… กลับกันในด้านต้นทุนของธุรกิจสายการบินไม่ได้หยุดนิ่งไปด้วย เพราะค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แถมเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ เพราะค่าจ้างนักบิน แอร์โฮสเตส ใครก็รู้ว่างดงามยิ่งนัก ไม่รวมถึงโบนัสของพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ อย่าง ท่าอากาศยานฯ หรือ ทอท. ที่เคยจ่ายโบนัสกันถึง 7.75 เดือนมาแล้ว

ตัดภาพมาปัจจุบันเหมือนหนังคนละม้วน นักบินที่เคยซื้อตัวกันแพงๆ วันนี้เรากลับเห็นภาพอาชีพนักบินไปขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งอาหาร นักบินไปรับล้างแอร์ แอร์โฮสเตสผันตัวไปเป็นแม่ค้าออนไลน์ (*ในยามวิกฤตการปรับตัวเป็นเรื่องดีเสมอ) แต่มันไม่ใช่ภาพที่หลายคนคิดว่าจะได้เห็นเท่านั้นเอง

ตามมาด้วยข่าวการลดเงินเดิน ตัดโบนัส การปลดคนของสายการบินทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย อย่าง บริษัทโบอิ้งออกรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ขาดทุน 75,411.6 ล้านบาท ขณะที่รายได้ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 25%


โดยนายเดวิด แคลฮูน ซีอีโอ โบอิ้ง บอกว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบหนักหนาสาหัสให้กับอุตสาหกรรมการบิน และประเมินว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปอีกประมาณ 3 ปี

ขณะที่อีกค่ายยักษ์ใหญ่ของโลกการบิน “แอร์บัส” แถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปรับลดพนักงานลงราว 15,000 ตำแหน่ง ให้เหตุผลว่า โควิด-19 ส่งผลระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ความต้องการซื้อเครื่องบินลดลงถึง 40% และคาดจะยังใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัว

โดยในประเทศไทยเอง ก็หนีไม่พ้น เพราะสายการบินแห่งชาติ หรือ การบินไทย ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ด้วยภาระหนี้สินท่วมตัวจนต้องออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

ด้านสายการบินเอกชน ที่ขึ้นชื่อว่าเชี่ยวชาญที่สุดในอุตสาหกรรมการบินของไทย อย่าง บางกอกแอร์เวย์ส ออกมาตรการปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดผลกระทบ ยกเลิกเส้นทางบิน ปรับลดเงินเดือน ปรับลดสวัสดิการ

และเช้าวันนี้ ก็มีอีกหนึ่งข่าวร้าย จากค่ายนกแอร์ ที่ประกาศยื่นแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร ปรับปรุงเส้นทางบินและฝูงบิน

ผลกระทบที่รุนแรงต่อธุรกิจเหล่านี้ จะหยุดสิ้นได้เมื่อใด เราคงต้องติดตาสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด และได้แต่หวังให้ธุรกิจสายการบิน กลับมาบินสูงอีกครั้ง พาผู้คนเดินทางไปทั่วโลกด้วยความสุขและรอยยิ้มเหมือนที่เคยเป็น

Scroll to Top