บก.ปอศ. รายงาน พบกรณีพนักงานภายในองค์กรอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายผ่านโปรแกรมเชื่อมต่อเดสก์ท็อปจากระยะไกล รวมถึงช่วงที่นักออกแบบมืออาชีพทำงานจากที่บ้าน “นี่เป็นครั้งแรกของกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายแบบแฝง หรือ Ghost Piracy ภายในองค์กร” พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว พร้อมชี้แจงว่า องค์กรดังกล่าวใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ในการผลิตคอนเทนต์ให้กับบริษัทวิดีโอสตรีมมิงระดับโลก “เมื่อเจ้าหน้าที่ฯเข้าตรวจตามหมายค้น เราพบว่าพนักงานบริษัทที่กำลังทำงานที่บ้าน ได้ใช้งานซอฟต์แวร์ออโตเดสก์ (Autodesk) ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของสำนักงานในเวอร์ชันที่ถูกแฮกผ่านโปรแกรมเชื่อมต่อเดสก์ท็อปจากระยะไกล ซึ่งในปัจจุบันเราเชื่อว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากพนักงานจำนวนมากยังคงทำงานจากที่บ้าน”
–7 เทรนด์การพัฒนาซอฟต์แวร์ในปี 2565 และเหตุผลที่องค์กรควรเปลี่ยนตาม
–หัวเว่ยชี้เทรนด์อนาคตของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์พร้อมก้าวสู่โลกอัจฉริยะแห่งปี พ.ศ. 2573
การจับกุมในครั้งนี้เป็นผลมาจากการแจ้งเบาะแสของพนักงานในบริษัท องค์กรดังกล่าวมีคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่องในสำนักงาน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีคอมพิวเตอร์กว่า 15 เครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์ออโตเดสก์ มายา (Autodesk Maya) โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ในการผลิตเทคนิคพิเศษ หรือ สเปเชียล เอฟเฟค ให้แก่ภาพยนตร์และแอนิเมชัน รวมมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) สูงกว่า 5 ล้านบาท
ข้อมูลจาก บก.ปอศ. แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีต่อองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) มีจำนวนลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย โดยมีองค์กรหลายแห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรรม การออกแบบ และการผลิตแอนิเมชัน ถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์)
ในปี พ.ศ. 2564 บก.ปอศ. ได้รายงานถึงการจับกุมองค์กรจำนวน 52 แห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง และการผลิตแอนิเมชันที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยมีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ที่ถูกจับรวมกว่า 299 โปรแกรม
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2565 นี้ บก.ปอศ. รายงานการจับกุมองค์กรจำนวน 53 แห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง และการผลิตแอนิเมชัน โดยมีจำนวนซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายที่ถูกจับรวมกว่า 346 โปรแกรมซึ่งใช้ในการออกแบบสำหรับงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดย บก.ปอศ. คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการจับกุมองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) อีก 50 แห่งภายในปีนี้
ประมาณร้อยละ 80 ขององค์กรที่ถูกจับกุมโดย บก.ปอศ. ไม่ได้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) และได้ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างชัดเจน ซึ่งการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นคดีอาญา ส่วนอีกร้อยละ 20 ขององค์กรที่ถูกจับกุม มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งหมายถึงองค์กรเหล่านี้มีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์เพียงไม่กี่ไลเซนส์ และมีซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายอีกหลายสำเนา