นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยที่ประชุมมีมติในเรื่องที่สำคัญ เห็นชอบ ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงิน สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. … เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในการทำธุรกรรมการเงิน โดย สกพอ. ได้ตกลงร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สิทธิแก่ผู้ประกอบกิจการฯ ให้สามารถ
1) ส่งคืนเงินทุน เงินกู้ยืมที่นำมาเริ่มต้นกิจการ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจจากเงินทุนที่นำมาลงทุนในกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ได้ 2) นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ 3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศกับกิจการในเครือและกิจการอื่นที่ความสัมพันธ์ในเชิงห่วงโซ่อุปทานได้ 4) ไม่ต้องนำเงินได้เงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกหรือรายได้นอกประเทศกลับเข้าไทย สำหรับกรณีเงินได้ที่ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5) ใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการฯ ด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกคล่องตัวให้ผู้ประกอบกิจการฯ และเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
- เห็นชอบ ร่างระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานของ สกพอ. 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การใช้ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. … 2) ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งของเลขาธิการ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พ.ศ… และ 3) ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง กำหนดค่าบริการในการดำเนินการทีเกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ…
- เห็นชอบ แผนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลาง โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อให้เป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาภายในโครงการฯ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ การปรับพื้นที่และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง และการจัดเตรียมพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ และจัดทำโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) อาทิ การบริหารจัดการน้ำ ระบบไฟฟ้าพลังงาน ระบบสื่อสาร ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบจัดการขยะ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหมุนเวียน โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการพัฒนาพื้นที่ศูนย์กีฬานานาชาติ โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น และ 2) การพัฒนาภายนอก ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคเชื่อมโยงเข้าสู่ภายในโครงการ ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ โดย การประปาส่วนภูมิภาค และกรมชลประทาน ระบบไฟฟ้าและพลังงาน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และระบบโครงข่ายถนน โดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้รับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกี่ยวกับ การจ่ายเงินชดเชยที่ดิน ซึ่ง สกพอ. ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. แล้ว พื้นที่ประมาณ 4,916 ไร่ ตลอดจน การจัดเตรียมโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และสถานทูตออสเตรเลีย ด้านระบบถนน ร่วมกับ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) เป็นต้น
- เห็นชอบ การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์การแพทย์และสุขภาพ ปลวกแดง (EECmhp) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ บริเวณอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจร ส่งเสริมการลงทุน และดึงดูดความสนใจของเอกขนที่จะมาร่วมลงทุน นอกจากนี้ยังได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการ “การยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ให้มีศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก (M1) และมีคุณสมบัติเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม” ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ประเภท Build Transfer Operate : BTO ที่เอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ลงทุน ก่อสร้างทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญและโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ โรงพยาบาลปลวกแดง 2 มีสถานะเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาด 120-200 เตียง รองรับการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่บริเวณอำเภอปลวกแดง ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีประชากรแฝงจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ทันท่วงที สะดวกปลอดภัย และลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่ ทั้งนี้ โรงพยาบาลปลวกแดง 2 จะเป็นต้นแบบการลงทุนขยายโรงพยาบาลของรัฐโดยความร่วมมือจากเอกชนต่อไป
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี ได้รับทราบร่างประกาศและระเบียบตาม ข้อ 1 และ 2 โดยไม่มีข้อทักท้วง ในการประชุม วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป