ประกันสังคม ทุ่ม 10,000 ล้าน ส่งเสริมการจ้างงานในสถานประกอบการ เสริมสร้างสภาพคล่อง โดยเป็นการกู้รีไฟแนนซ์ ไม่เกิน 50%

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมกู้เงินกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง และเพิ่มผลผลิตแรงงาน

โดยเป็นการกู้เพื่อ Refinance ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ของแต่ละธนาคาร โดยมีระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึง 31 ธันวาคม 2562 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด โดยวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จำนวน 10,000 ล้านบาท ได้มีการจัดสรรเป็น 1.วงเงิน 6,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย 2.วงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51 – 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และ 3.วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี และคงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี และคงที่ 3 ปี อย่างไรก็ดีขณะนี้มีธนาคารเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแล้ว จำนวน 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญของกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนทางสังคม เพื่อประโยชน์แก่นายจ้างและผู้ประกันตน นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการ รักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

Scroll to Top