ผลสำรวจเผยแนวโน้มตลาดทีวีดิจิทัลเริ่มฟื้นปี 65

ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเผยแพร่ รายงานการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล “มูลค่าตลาดกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย ในปี 2562” โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย

โดยผลการศึกษาพบว่า มูลค่าตลาดรวมกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย ในปี62 มีมูลค่ารวมกว่า 38,404 ล้านบาท สามารถแบ่งออกได้เป็นกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ (โทรทัศน์ภาคพื้นในระบบดิจิทัล) มูลค่ากว่า 23,761 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าของการให้บริการช่องรายการ 21,497 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว 940 ล้านบาท หรือราว 4.16% โดยรายได้จากการดำเนินงานลดลง โฆษณายังเป็นรายได้หลัก แต่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการรับชมสื่อที่เปลี่ยนไปในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายการโฆษณาผ่านทีวีดิจิทัลสูงกว่าช่องทางอื่น ทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ลดการโฆษณาผ่านระบบทีวีดิจิทัล ขณะที่ผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ มีการปรับตัวด้วยการปรับกลยุทธ์ เป็น Omni-channel (รวมบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไว้ที่เดียว) / กลยุทธ์การขายลิขสิทธิ์ทีวี และ กลุยุทธ์ Home Shopping รวมถึงการปรับเนื้อหารายการเรียกเรตติ้ง การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการนำเสนอข่าวมากขึ้น และสร้างความแตกต่างเนื้อหารายการ เป็นต้น ส่วนรายการโทรทัศน์ที่รับชมมากที่สุดคือละคร ภาพยนตร์ 65.4% ตามด้วยรายการข่าว 59.70% และ รายการบันเทิง เกมโชว์ ทอล์คโชว์ 25.5%

ส่วนกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (เคเบิลทีวี , ทีวีดาวเทียม และ อินเทอร์เน็ตทีวี) มีมูลค่ากว่า 14,643 ล้านบาท แบ่งเป็นเคเบิลทีวี มูลค่าตลาด 1,166 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้ลดลง 86.61% จากปีทีแล้ว คาดปี63 รายได้ลดลงจากปี62 ราว 84.82% ขณะที่ทีวีดาวเทียม มีมูลค่าตลาด 4,617 ล้านบาท เป็นมูลค่าให้บริการช่องรายการ 2,798 ล้านบาท ลดลง 52.03% หรือกว่า 3,036 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากมีคู่แข่งจากกลุ่ม IPTV และ OTT ส่วนมูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตทีวี อยู่ที่ 1,121 ล้านบาท แบ่งเป็น IPTV จำนวน 4 ราย 234 ล้านบาท , OTT จำนวน 4 ราย 881 ล้านบาท และ IPTV และ OTT จำนวน 1 ราย 5.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อพยากรณ์แนวโน้มตลาดโทรทัศน์ปี 63 พบว่ายังคงเป็นทิศทางขาลง ขณะที่ปี 64 จะอยู่ในภาวะประคองตัว และจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในปี 65 ตามปัจจัยแวดล้อม ยกเว้นอินเทอร์เน็ตทีวีที่ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม OTT ที่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการให้บริการ OTT จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดของไทย โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการวีดีโอออนดีมานด์ ทำให้การแข่งขันคึกคักมากขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการเช่น Netflix, iflix และ HOOQ โดยพบว่า คนไทยจ่ายเงินเพื่อรับชมวีดีโอออนดีมานด์ เพิ่มขึ้นจากปี 61 อยู่ที่ 2.81 พันล้านบาท ขณะที่ปี 62 อยู่ที่ 3.28 พันล้านบาท

Related Posts

Scroll to Top