นายประทีป ทรงลำยอง ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานในพื้นที่ EEC แล้วกว่า 7,000 คน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาพนักงานของตนเองอีกกว่า 200,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ซึ่ง 3 จังหวัดนี้ รับผิดชอบพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในพื้นที่ตามโครงการที่ได้รับงบประมาณ อาทิ โครงการยกระดับผลิตภาพและพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมศูนย์ฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชั้นสูง โครงการเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 และโครงการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ในจังหวัดชลบุรียังมีสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) เป็นหน่วยฝึกสาขาการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะด้านอีกด้วย
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรม จะมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมจัดทำและพัฒนา เพื่อให้หลักสูตรการฝึกตรงกับความต้องการ อาทิ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สมาคมวิชาชีพ องค์กรอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ รวมไปถึงสถานประกอบกิจการในเขตพื้นที่ EEC เป็นต้น รวมกว่า 135 หลักสูตร และหลักสูตรที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ EEC จัดส่งพนักงานเข้าอบรม เช่น ระบบขับเคลื่อนและ ส่งกำลังยานยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การสร้างหุ่นยนต์ลำเลียง ช่างควบคุมหุ่นยนต์ FANUC การใช้เครื่องมือวัดด้านมิติในอุตสาหกรรม การจำลองขบวนการผลิตและวางแผนการผลิตด้วยโปรแกรม TECNOMATIX เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการผลิต (AI) และระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติ เป็นต้น เพื่อให้การฝึกมีคุณภาพและแรงงานมีทักษะตรงกับความต้องการ ในปี 2565 ได้จัดหาครุภัณฑ์ การฝึกเทคโนโลยีชั้นสูง สอดรับกับความต้องการและการลงทุนของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ EEC เพื่อดำเนินการฝึกอบรม EEC Model Type B และระหว่างวันที่ 6 - 10 มิถุนายน 2565 MARA มีการเปิดฝึกอบรมการใช้โปรแกรม Tecnomatix process simulate ให้แก่บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและภาคการศึกษา จำนวน 20 คน เพื่อนำไปขยายผล ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้รับการฝึกและแรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัทนาชิเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดฝึกอบรมการควบคุมหุ่นยนต์ NACHI ให้กับบุคคลทั่วไป จำนวน 10 คน พร้อม วางแผนการดำเนินงานในปี 2566 พัฒนาวิทยากรต้นแบบกว่า 200 คน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve และ New Curve) อีกด้วย ผู้สนใจสามารถสมัครและติดตามข่าวสารได้ที่ www.dsd.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 4