พาณิชย์ยันดูแลค่า GP สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่มีข้อเรียกร้องของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีให้ทบทวนแผนการปรับลดค่าส่วนแบ่งการขายหรือ ค่า GP นั้น กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid 19 ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโดยมาตรการหนึ่งคือการจำกัดการนั่งรับประทานอาหารในร้านส่งผลกระทบต่อรายได้ส่วนหนึ่งของร้านอาหารลดลง ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้ร่วมมือกับ Food Delivery platform ได้แก่ ฟู้ดแพนด้า Grab, Gojek, LINE Man และ Robinhood จำนวน 5 แพลตฟอร์ม ในการจัดโปรโมชั่นสำหรับการสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และอีกส่วนหนึ่งเป็นการลดค่า GP ที่เรียกเก็บจากร้านอาหาร จากเดิมให้เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในระบบการค้าในธุรกิจ Food Delivery platform คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าบริการจำหน่ายและขนส่งอาหารผ่าน platform ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโลจิสติกส์ไทย มีกรมการค้าภายในเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจการบริการจำหน่ายและขนส่งอาหารรวมถึงอัตราการเรียกเก็บค่าบริการและแนวทางหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ ซึ่งคณะอนุกรรมการมีหลักการพิจารณาจะคำนึงถึงการสร้างความ เป็นธรรมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างสมดุล คือ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้บริการ ด้านร้านค้าสามารถสร้างรายได้จากการขายผ่านแพลตฟอร์ม ส่วนไรเดอร์มีผลตอบแทนที่เหมาะสมและแพลตฟอร์มสามารถประกอบธุรกิจและสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งคำนึงถึงประเด็นของทั้งกลุ่ม Food Delivery platform และตัวแทนไรเดอร์ผู้จัดส่งอาหารอยู่แล้ว
………………………………………………………

Related Posts

Scroll to Top