สจล. เปิดตัว UNICON รถ EV ฝีมือวิศวกรไทย ปั้นนวัตกรรมเพื่อเรียนรู้ สู่การใช้งานจริง

สจล. เปิดตัว UNICON รถ EV ฝีมือวิศวกรไทย ปั้นนวัตกรรมเพื่อเรียนรู้ สู่การใช้งานจริง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัว รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า UNICON รุ่นที่ 1 วิจัยและพัฒนาโดย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางภายใน สจล. ด้วยพลังสะอาด ต้นแบบในการคิดค้นนวัตกรรม ลดมลพิษทางอากาศ และมีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน สอดคล้องกับนโยบาย KMITL for SDGs มุ่งสร้าง สจล. ให้เป็นสถานศึกษาที่สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตั้งแต่ขณะเรียน รวมถึงการนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานจริง เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะกลายเป็นยานพาหนะหลักในอนาคต

ETRAN จับมือ Bosch นำเทคโนโลยีมอเตอร์จากเยอรมัน ยกระดับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทย
ไทยพาณิชย์ ยกเครื่องแพลตฟอร์ม SCB Business Anywhere อัพเกรดประสบการณ์ธนาคารดิจิทัล เพื่อลูกค้าธุรกิจ

ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จึงได้ดำเนินนโยบาย KMITL for SDGs ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Innovated in KMITL ที่ส่งเสริมให้นักวิจัยบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อใช้จริงภายในสถาบัน

สจล. เปิดตัว UNICON รถ EV ฝีมือวิศวกรไทย ปั้นนวัตกรรมเพื่อเรียนรู้ สู่การใช้งานจริง

โดยนักวิจัย นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยรถต้นแบบ UNICON ซึ่งเป็นรถโดยสารเคลื่อนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% สำหรับใช้ภายในสถาบันฯ มุ่งลดมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันอันเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของประชาชน ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากกว่าการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งมีราคาผันผวนตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นยานยนต์แห่งอนาคต

แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรถรางที่ใช้ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์อย่างลงตัว เมื่อนำมาใช้ภายในพื้นของสถาบันฯ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ สจล. ยุคใหม่ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เช่นกัน

โดยชื่อรถ UNICON มาจากคำว่า University และ Connection ที่นอกจากจะสื่อความหมายถึงรถโดยสารที่เชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่สถาบันฯ แล้ว ยังสื่อถึงการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอน การทำวิจัย และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันฯ เข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมรถ UNICON ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ประกอบ ตลอดจนบำรุงรักษา โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ศิษย์เก่าและนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาเป็นยานพาหนะกระแสหลักในอนาคต

ทั้งนี้ในเวอร์ชันต่อไปจะมีการใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่จะช่วยให้รถบัสฉลาดมากขึ้น รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ประมาณ 300 วัตต์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้พัดลม และตัวระบายความร้อน

สจล. เปิดตัว UNICON รถ EV ฝีมือวิศวกรไทย ปั้นนวัตกรรมเพื่อเรียนรู้ สู่การใช้งานจริง

ผศ.ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ได้นำความรู้จากการวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้คำแนะนำตั้งแต่การออกแบบ กำกับดูแลในขั้นตอนการผลิต รวมถึงควบคุมคุณภาพก่อนนำออกมาใช้งานจริง โดยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า UNICON รุ่นที่ 1 มีจุดเด่นในด้านประหยัดพลังงานและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ใช้ Motor ชนิด PMSM ขนาด 20kW และใช้ Battery Li-On 96 V ที่มีความจุ 400 Ah (แอมแปร์-ชั่วโมง) ในการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ในระยะทางไม่ต่ำว่า 100 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 คน แต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในขณะที่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันมีการปล่อยมลพิษทุกครั้งที่ใช้งาน

เอกชัย ปูชนียกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวเสริมว่า จากมุมผู้ประกอบการในวงการยานยนต์ เล็งเห็นว่าจะมีการใช้งาน EV สูงถึงกว่าหนึ่งแสนคัน ภายในระยะเวลา 5 ปี เนื่องมาจากการส่งเสริมการใช้ EV ของภาครัฐ

ดังนั้นโครงการวิจัยรถต้นแบบ UNICON จึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีให้กับนักศึกษาได้มีทักษะในการร่วมพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทักษะเหล่านี้จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยเตรียมความพร้อมแก่วิศวกรไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมกับการทำงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะตั้งขึ้นอีกจำนวนมากทั้งในประเทศและทั่วโลก

Scroll to Top