· นักศึกษา สจล. โชว์ผลงานสุดยอดนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมอัจฉริยะสายสุขภาพ อาทิ การลดการไหลของน้ำในดิน เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย ระบบการจัดการวันเก็บเกี่ยวทุเรียนบนสมาร์ทโฟน
· อธิการบดี สจล. เปิดแนวคิดวิศวกรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดันพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและดิจิทัล ทันการเปลี่ยนแปลงเทรนด์เทคโนโลยีโลก
กรุงเทพฯ 25 เมษายน 2562 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการผลงานด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 หรือ “KMITL Engineering Project Day 2019” งานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากฝีมือนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ใน 20 สาขาวิชา กว่า 400 ผลงาน พร้อมไฮไลท์สุดยอดผลงานด้านนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมอัจฉริยะสายสุขภาพ อาทิ การลดการไหลของน้ำในดินเพื่อการปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย ตะเกียบรับประทานได้ ระบบการจัดการวันเก็บเกี่ยวทุเรียนบนสมาร์ทโฟน ขาเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ สจล. มีแนวคิดในการบ่มเพาะบัณฑิตให้สร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกดิจิทัล ด้วยสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กระตุ้นการเรียนรู้ในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ของนักศึกษา เพื่อสร้างวิศวกรที่มีความรู้ควบคู่ทักษะการปฏิบัติงานจริง นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมดิจิทัล สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทั้งนี้ สจล. ได้จัดงานแสดงผลงานในโครงการผลงานด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews.
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า วิศวกรรมศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทหลักในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ อำนวยความสะดวกและสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น วิศวกรจึงถือเป็น “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม” เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมความเป็นอยู่ ดังนั้น การผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมไปถึงตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลัก และอุตสาหกรรมในกลุ่มดิจิทัลใหม่ นอกจากนี้ วิศวกรจะต้องมีความรู้ควบคู่จรรยาบรรณวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และผลกระทบที่อาจจะก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรฐานสำคัญ ภายใต้แนวทางการผลิตบัณฑิตให้สร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกดิจิทัล โดย สจล. ได้ออกแบบและกำหนดวิสัยทัศน์ในการเรียนการสอนให้สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยสำนึกความรับผิดชอบต่อสาธารณะและสิ่งแวดล้อม และมีความรู้ในศาสตร์ด้านวิศวกรรมอย่างลึกซึ้ง ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในการออกแบบสร้างสรรค์ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า สจล. ได้จัดงานแสดงโครงการด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 หรือ KMITL Engineering Project Day 2019 ที่ได้รวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากฝีมือนักศึกษากว่า 400 ชิ้น ใน 20 สาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของสจล. เพื่อการกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ในห้องเรียนสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ สร้างวิศวกรที่มีทั้งความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้การแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีมของนักศึกษา นอกจากนี้ จะมีการเรียนรู้ในรูปแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ระหว่างสาขาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจุดประกายแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมให้กับนักศึกษาต่อไป
สำหรับสุดยอดผลงานที่จัดแสดงในงานเสนอ โครงการด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 (KMITL Engineering Project Day 2019) มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะสายสุขภาพ ได้แก่ การลดการไหลของน้ำในดินเพื่อการปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแบคทีเรียเดกซ์ทรานซึ่งเป็นแบคทีเรียธรรมชาติมาใช้เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำในดินทดแทนวิธีเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย ผ่านการวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยหลักการนำไฟฟ้าของน้ำตาลในเลือดด้วยทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ตะเกียบรับประทานได้ จากแป้งข้าวโพดและแป้งถั่วเหลือง เพื่อทดแทนตะเกียบไม้ไผ่ชนิดใช้แล้วทิ้ง ซึ่งช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะที่มีมากในปัจจุบัน ระบบการจัดการวันเก็บเกี่ยวทุเรียนบนสมาร์ทโฟน โดยใช้เทคโนโลยีรหัสประจำต้นจดบันทึกข้อมูลวันดอกบาน เพื่อคำนวณวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้งานได้ง่ายผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ต้นแบบขาเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การออกแบบขาเทียมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อแปลงสัญญาณและจำลองรูปแบบลักษณะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ให้ขาเทียมเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ฯลฯ รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดงานแสดงผลงานในโครงการผลงานด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 (KMITL Engineering Project Day 2019) ที่แสดงผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยของนักศึกษา การแสดงแข่งขันหุ่นยนต์ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และบุคคลทั่วไป สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews