สดช.ชี้ระบบคลาวด์รัฐประหยัดงบโครงสร้างพื้นฐาน 800 ล้านบาท/ปี มีหลายหน่วยงาน จ่อคิวใช้บริการ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวถึง ผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) โครงการนี้ สามารถลดภาระงบประมาณของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลลงประมาณ 854.0602 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 54.56 จากงบประมาณ 1,106.1775 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานจัดหาระบบคลาวด์จากท้องตลาดเอง และยังช่วยส่งเสริมระบบสารสนเทศของประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบัน ภาครัฐ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บข้อมูล และการประมวลผล ขึ้นมาไว้บนบริการคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) เพิ่มขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ มีการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ประมาณร้อยละ 86.35 ใช้เทคโนโลยี Data Analytics ร้อยละ 13.32 และเทคโนโลยี AI ร้อย 4.61 ซึ่ง GDCC ได้ให้บริการหน่วยงานภาครัฐไปแล้ว 224 กรม 934 หน่วยงาน 3,201 ระบบงาน 36,778 VM จากยอดขอใช้บริการสะสม 45,592 VM จากเป้าหมายการให้บริการที่ตั้งไว้ 25,000 VM โดยมุ่งเน้นให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจด้านการบริการประชาชน ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งมีการจัดทำข้อมูลเปิด (Opendata) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากคลาวด์ ในการเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างสูงสุดผ่านบริการ GDCC Marketplace ได้
โดยหน่วยงานที่มีการใช้งานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 24.10 (2) สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 12.97 (3) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร้อยละ 12.84 (4) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 10.26 (5) กระทรวงแรงงาน ร้อยละ 4.64

มีระบบงานที่ใช้บริการ GDCC ที่สำคัญ เช่น 1.ระบบ Nationnal Digital Health Platform 2. ระบบงานของสถาบันวัคซีน 3. ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ Smart Bus Terminal 4. แอปพลิเคชั่น หมอพร้อม 5.ระบบบริหารงานของผู้บังคับบังชาและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สายตรวจ (POLICE 4.0) 6. ระบบไทยเซฟไทย ของ กรมอนามัย ไทยประเมินเซฟไทย ครัวไทยปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด 7.เว็บไซต์ Entry Thailand ลงทะเบียนนักท่องเที่ยว และแอปพลิเคชั่น Thailand Plus สำหรับนักท่องเที่ยว 8. Dashboard ให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของหมอพร้อม 9. YFHS Application การประเมินรับรองโรงพยาบาลตามมาตราฐาน YFHS 10. ระบบการพัฒนา Data catalog และการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ 11. ระบบงาน SKYNET การยื่นขออนุญาตอาหาร งานโฆษณา หนังสือรับรอง) 12.ระบบการสำรวจวัฒนธรรมความปลอดภัยของโรงพยาบาลออนไลน์ 13.ระบบกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ 14. ระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคล (DPIS 6.0) เป็นต้น

นายภุชพงค์ กล่าวว่า ส่วนการอบรมบุคลากร (Training & Certification) ได้มีดำเนินการไปแล้ว 2,571 คน แบ่งออกเป็น ระดับพื้นฐาน 1,294 คน ระดับสูง 551 คน และระดับผู้เชี่ยวชาญ 762 คน ผู้ที่เข้ารับการอบรมและผ่านการประเมินผลจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากโครงการ GDCC อีกด้วย

สำหรับบริการ บริการ GDCC Marketplace เพื่อเป็นบริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากบริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (VM) ปัจจุบันมีบริการ ดังนี้ (1) บริการ Security Service (2) บริการ Performance Service (3) บริการ Data Catalog Platform (4) บริการ Database as a Service (5) บริการ Data Analytic Platform (Data Analytic Tools) (6) บริการ IOT Platform (7) บริการ AI Platform (8) บริการ Big Data Platform (9) บริการ Cloud Storage (10) บริการแปลงภาพอักษรเป็นข้อความ OCR (Optical Character Recognition) (11) บริการ Container

เลขาธิการ สดช. กล่าวว่า ภายในปี 2566 มีเป้าหมายที่จะยกระดับการให้บริการ GDCC จากบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service IaaS) ที่บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน (Virtual Machine) ไปสู่การแบบบริการด้านแพลตฟอร์ม (Platform as a Service : PaaS) และบริการด้านซอฟต์แวร์ (Software as a Service : SaaS) ที่มีความหลากหลายของบริการยิ่งขึ้น ผ่าน GDCC Marketplace หน่วยงานสามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์มได้สะดวกและง่ายขึ้น มุ่งไปสู่การให้บริการของภาครัฐแบบเปิด ก่อให้เกิดบริการสาธารณะอย่างก้าวหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม Government Cloud เป็นก้าวต่อไปของ Digital Government ที่จะครอบคลุมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการอำนวยความสะดวกบริการในสาขาต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ผ่านคลาวด์กลางอย่างต่อเนื่อง

Scroll to Top