สสว. และ SMEs D Bank เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อเพิ่มโครงการ SMEs One รอบสอง คาดช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) เปิดเผยผลการยื่นขอกู้สินเชื่อ SMEs One รอบแรก วงเงินรวม 4,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ยื่นขอสินเชื่อราว 3,000 ราย ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 332 ราย ในจำนวนนี้มีการเบิกจ่ายแล้ว 123 ราย ไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ 489 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน 2,235 ราย วงเงิน 3,690 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งดำเนินการตรวจสอบเอกสารในส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้

ทั้งนี้ยังมีวงเงินเหลืออีกประมาณ 1,200 ล้านบาท สสว.และ SMEs D Bank จึงได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นขอกู้สินเชื่อดังกล่าว รอบ 2 ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันนี้ (24 ส.ค.63) เป็นต้นไป และจะปิดรับคำขอเมื่อการยื่นขอกู้เต็มจำนวน สำหรับผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา และกลุ่มนิติบุคคล โดยต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจขยายย่อย(ไมโคร)คือ รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานไม่เกิน 5 คน และต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนไว้กับ สสว. รวมถึงต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือโครงการช่วยเหลืออื่น ๆ , ต้องไม่เป็นหนี้ NPLs , ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และต้องมีหลักประกันที่เชื่อถือได้

โดยเฟส 2 จะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยระดับไมโคร และรายเล็กเท่านั้น เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้ คาดช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยได้ประมาณ 2,400 ราย รักษาการจ้างงานกว่า 12,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผอ.สสว. ยอมรับว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้เฉลี่ยหายไป 40% จ้างงานลดลงไป 25% ล่าสุดทยอยปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นกลุ่มที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนที่พึ่งพารายได้จากในประเทศ เริ่มเห็นการฟื้นตัวแล้ว ซึ่งทาง สสว. ได้พยายามหาแนวทางช่วยเหลือ ทั้งการเข้าถึงแหล่งทุน การเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และการหาช่องทางการตลาด / ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาอาจจะมีอุปสรรค แต่ทั้งนี้ยังมีการหารือว่าอาจพิจารณามาตรการท่องเที่ยวแบบ Long Stay นำร่องในบางพื้นที่ รวมถึงการสร้างอาชีพเพิ่มเติม จากภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทย

Scroll to Top