วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
- คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,546,602 บาทรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับมิจฉาชีพผ่านทางแอปพลิเคชัน Line อ้างชื่อว่า อานัท นภาพรรณ ชักชวนหารายได้พิเศษ เปิดร้านค้าออนไลน์อ้างว่าเป็นตัวแทนของแอปพลิเคชัน TikTok Shop เมื่อมีผู้สั่งสินค้าเข้ามาในระบบ ให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปในระบบก่อน แล้วจะได้รับผลตอบแทนเปอร์เซ็นต์จากยอดขายสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป พอต้องการจะถอนเงินออกมาใช้ระบบล็อกไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ และไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
- คดีที่ 2 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 21,603,597 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านทางแอปพลิเคชัน Facebook แล้วได้มีการติดต่อพูดคุย ผ่านทางแอปพลิเคชัน Line จนเกิดความเชื่อใจ จากนั้นมิจฉาชีพได้ชักชวนให้ลงทุนเทรดหุ้นโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมีการโอนเงินลงทุนไปหลายครั้ง แต่เมื่อต้องการถอนเงินออกมาใช้ ก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้จริง ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
- คดีที่ 3 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 4,139,353.77 บาทรายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มายังผู้เสียหาย แจ้งว่าได้จับกุมผู้ต้องหา ในคดียาเสพติดและมีการซัดทอดผู้เสียหายว่า ได้มีการรับโอนเงินจากขบวนการค้ายาเสพติดจากนั้นมิจฉาชีพให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยโอนเงินในบัญชีไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะโอนกลับคืนให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปแต่ก็ไม่ได้รับเงินโอนคืนกลับมา ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
- คดีที่ 4 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 1,300,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินโทรศัพท์มายังผู้เสียหาย แจ้งว่าได้รับเงินคืน ค่าชำระภาษีที่ดิน โดยให้ผู้เสียหายตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากลิงก์ที่ส่งมาให้ ผู้เสียหายจึงได้ทำการติดตั้งลิงก์ดังกล่าวลงในโทรศัพท์ ภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีธนาคารของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไปจากบัญชี จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
- คดีที่ 5 หลอกลวงให้กู้เงินอันมีลักษณะฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 1,086,240.45 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายทำการกู้ยืมเงินผ่านโฆษณาแอปพลิเคชันทาง Line มิจฉาชีพแสดงภาพโลโก้ แอบอ้างเป็นธนาคาร UOB ผู้เสียหายนึกว่าเป็นธนาคารจริง จึงสอบถามรายละเอียด การกู้ยืมเงินและได้กรอกข้อมูลสำคัญต่าง ๆ จนเสร็จ มิจฉาชีพแจ้งผู้เสียหายว่า ได้รับการอนุมัติวงเงินกู้แต่ให้โอนเงินเพื่อยืนยันตัวตนก่อน จึงจะสามารถรับเงินกู้ได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อและได้โอนเงินไป มิจฉาชีพแจ้งว่าทำรายการโอนเงินผิดเงื่อนไข ทำให้ต้องโอนเงินใหม่อยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายได้รับข้อความรหัสในการกดถอนเงินมา แต่ก็ไม่สามารถกดถอนเงินออกมาได้จริง ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 29,675,793 บาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล
“ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” วงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยโดนหลอกออนไลน์สามารถโทรปรึกษา สายด่วน AOC 1441 และ GCC 1111 โทรฟรีตลอด 24 ชม.