เงินเฟ้อ สิงหา ชะลอตัว .. ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนสิงหาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) ชะลอตัวจากร้อยละ 0.98 ในเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนสิงหาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) ชะลอตัวจากร้อยละ 0.98 ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 5.15 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไข่ ผักและผลไม้ ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 5.16 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่องกัน 4 เดือน ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.49 เงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (AoA)

การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลงร้อยละ 1.7 และ 2.3 ตามลำดับ โดยหมวดอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหมวดเกษตรกรรมที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหักราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว พบว่าเงินเฟ้อในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว สอดคล้องกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งจากการใช้จ่ายในประเทศและการนำเข้า การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับความเชื่อมั่น) เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวค่อนข้างสูง รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.3 ชี้ว่านักลงทุนและผู้บริโภคยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกที่สนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาและการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐได้ผลยิ่งขึ้น

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนสิงหาคม 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนสิงหาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.63 โดยผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.23 โดยเฉพาะผลไม้สด (ฝรั่ง มะม่วง สับปะรด) สูงขึ้นร้อยละ 8.69 ผักสด (มะนาว พริกสด มะละกอดิบ) สูงขึ้นร้อยละ 4.99 ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า สูงขึ้นร้อยละ 7.06 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกน้อย ขณะที่ความต้องการ มีอย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) สูงขึ้นร้อยละ 3.63 ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้นร้อยละ 1.82 ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวราดแกง) สูงขึ้นร้อยละ 0.97 และ 0.96 ตามลำดับ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟร้อน/เย็น น้ำอัดลม น้ำผลไม้) สูงขึ้นร้อยละ 0.52 ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.90 สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.67 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ซึ่งลดลงร้อยละ 8.15 (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าชยานพาหนะ (LPG)) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 2.22 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.09 (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.03 โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย สบู่ถูตัว ยาสีฟัน) จากการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.19 หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้นร้อยละ 0.30 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.79 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุราและเบียร์) สูงขึ้นร้อยละ 0.02
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.19 (MoM) และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและการแข่งขัน (กุ้งแช่แข็ง) ราคาวัตถุดิบลดลง (น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ) การชะลอตัวของเศรษฐกิจและราคาโลก (กากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย กลุ่มเยื่อกระดาษ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน และผลิตภัณฑ์โลหะ) ราคาน้ำมันที่ลดลง (เม็ดพลาสติก และกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง) และการปรับราคาเพื่อระบายสต๊อก (กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์) และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 5.6 ตามการลดลงของกลุ่มน้ำมันปิโตรเลียมดิบและแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.2 ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้ง (ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก (มะนาว แตงกวา พริกสด)) ตามมาตรการปรับลดผลผลิตทั้งระบบให้สมดุล ในกลุ่มปศุสัตว์ (สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่) และตามความต้องการของตลาด ที่เพิ่มขึ้น (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ทุเรียน) ในขณะที่ มันสำปะหลัง ผลปาล์มสด ยางพารา และกุ้งขาวแวนนาไม มีราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตมีปริมาณมากกว่าปีก่อน
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.7 (MoM) และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.6 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนสิงหาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.3 (YoY) จากการ ลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก) ร้อยละ 12.7 ตามการลดลงของราคาในตลาดโลก หมวดสุขภัณฑ์ (โถส้วม อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ) ลดลงร้อยละ 0.7 ตามมาตรการกระตุ้นยอดขาย หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (อลูมิเนียม ยางมะตอย) ลดลงร้อยละ 0.7 ตามราคาปิโตรเลียม ที่ปรับลดลง หมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) ลดลงร้อยละ 0.5 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซีและอุปกรณ์) ลดลงร้อยละ 0.5 ตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) ที่ลดลง และหมวดวัสดุฉาบผิว (ซิลิโคน) ลดลงร้อยละ 0.2 ตามต้นทุนนำเข้าที่ลดลงตามการแข็งค่าของค่าเงินบาท ในขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) สูงขึ้นร้อยละ 11.2 ตามราคานำเข้าที่สูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ) สูงขึ้นร้อยละ 1.7 เนื่องจากปริมาณวัสดุธรรมชาติลดลง และหมวดกระเบื้อง (กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น) สูงขึ้นร้อยละ 0.7

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 (MoM) และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.6 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 47.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.8 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงความเชื่อมั่น (ระดับ 50) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยทุกอาชีพ (ยกเว้นกลุ่มพนักงานของรัฐ) มีค่าดัชนีอยู่ในช่วงต่ำกว่าช่วงความเชื่อมั่น และหากจำแนกเป็นรายภาค พบว่า ทุกภาคปรับตัวลดลง คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 51.3 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4 ทั้งนี้ ประเด็นที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพ รองลงมาคือปัญหาภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และปัญหาอื่น ๆ (อาทิ ภัยธรรมชาติ ยาเสพติด การคอรัปชั่น)
สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2562

เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังค่อนข้างทรงตัวและเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยมีสัญญาณการชะลอตัวของอุปสงค์ ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของการลงทุนในสินค้าทุน ชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงและมีปัจจัยทั้งเชิงบวกและลบที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต และสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจน่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพด้านราคาในวงจำกัด คาดว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่างร้อยละ 0.7-1.3

Related Posts

Scroll to Top