บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้เข้าไปพบ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เนื่องจากต้องการทราบรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ( รายละเอียดตามสำเนาหนังสือเรื่องขอทราบหลักเกณฑ์คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 ลงวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่แนบมาด้วยนี้ ) ถึงหลักเกณฑ์ และขอบเขตว่ามีประโยชน์กับบริษัทฯอย่างไร ซึ่งบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญาใบอนุญาตทั้ง 2 ช่องแล้ว บริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้อย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าไปพบ ก็ได้ทราบว่าคำสั่งนี้ใช้กับผู้ถือใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนมาตรการเยียวยาค่าเสียหายยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอการแต่งตั้งอนุกรรมการเยียวยาเสียก่อน ดังนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่าจะไม่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 44 ดังกล่าว เพราะบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญากับ กสทช. ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และได้ยื่นฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ว่า กสทช. ผิดสัญญา การดำเนินการของ กสทช.ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงานและตามที่ กสทช.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็นการแจกคูปองที่เป็นไปอย่างล่าช้าเป็นเวลาถึง 6 เดือน
นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่มีความเข้าใจและขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งการขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า และบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 เรียกเงินคืนและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,134,991,689.22 บาท เหตุเพราะ กสทช.ผิดสัญญาและคำมั่น ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กสทช.ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่บริษัทไทยทีวี และการที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทไทยทีวีจะฉวยโอกาสเอี่ยว รับการเยียวยา ตาม มาตรา 44 บริษัทฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทฯไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการเยียวยา เพราะบริษัทฯ เลิกสัญญาไปแล้วเนื่องจาก กสทช. ผิดสัญญา บริษัทฯ จึงยืนยันว่าจะดำเนินคดีต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด
แต่หากทาง กสทช.ต้องการที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย โดยใช้มาตรา 44 เทียบเคียงในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นหน้าที่ของทาง กสทช. ที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่บริษัทต่อไป