จากปัจจัยการส่งเสริมให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งของโลก ส่งผลให้คนไทยหันมาสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กันมากขึ้น ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ภายใต้กระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญของความต้องการพลังงานมากขึ้น หากประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีที่เข้ามาสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ในส่วนของ รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มีขนาดแบตเตอรี่ระหว่าง 10-30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) จะได้เงินอุดหนุน 70,000 บาท ส่วนรถยนต์ที่มีขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หรือมากกว่า จะได้เงินอุดหนุน 150,000 บาท (สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ หรือ CBU จะใช้สิทธิ์ได้ถึงสิ้นปี 2566 และ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ หรือ CKD ใช้สิทธิ์ได้ถึงสิ้นปี 2568)นอกจากนี้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ยังได้ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% จนถึงสิ้นปี 2568 และลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ (CBU) จนถึงสิ้นปี 2566
ด้านรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกระหว่าง 2-7 ล้านบาท จะได้ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ในปี พ.ศ. 2565-2568 ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ (CBU) จนถึงสิ้นปี 2566
ส่วนรถยนต์กระบะไฟฟ้า ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มีขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หรือมากกว่า และผลิตภายในประเทศไทยเท่านั้น จะได้เงินอุดหนุน 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% จนถึงสิ้นปี 2568
และสำหรับ รถจักรยานยนต์ ที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท มีขนาดแบตเตอรี่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หรือมากกว่า หรือวิ่งได้มากกว่า 75 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง จะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% จนถึงสิ้นปี 2568
นอกจากนี้ทั้งรถไฟฟ้า (BEV) ทั้ง 4 ประเภท ยังได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนทั้งหมด 9 ชิ้นส่วน รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนด้วย ได้แก่ Battery, Traction Motor, Air Compressor, Battery Management System (BMS), Drive Control Unit (DCU), On-board Charger, PCU Inverter, DC/DC Converter และ Reduction Gear
ขณะที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ออกนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ต่อปีของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 (ผลิตรถยนต์นั่ง/รถกระบะ แบบ ZEV จำนวน 725,000 คัน และ ผลิตรถจักรยานยนต์ แบบ ZEV จำนวน 675,000 คัน ในปี 2030)
จากนโยบายดังกล่าว สนพ. ได้ทำงานอย่างใกล้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลัง เตรียมความพร้อมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ภาคการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และ การใช้งาน โดยภาคการผลิต และ โครงสร้างพื้นฐาน สนพ. ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนการส่งเสริมเรื่องการใช้งาน ได้ทำงานร่วมกับ กระทรวงการคลัง แบ่งเป็น 4 แนวทางดังนี้
การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน: ประกอบด้วยการทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การกำหนดมาตรฐานยานยนต์และชิ้นส่วน จนไปถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า: ประกอบด้วย การส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอ การสร้างกฎระเบียบ มาตรฐาน เเละเเนวทาง และส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดเพื่อเชื่อมโยงและบริหารจัดการ
การส่งเสริมด้านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า: ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
การส่งเสริมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า: ประกอบด้วย การส่งเสริมด้านการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ การออกนโยบายและมาตรการด้านแบตเตอรี่ใช้แล้ว ตลอดจนการพัฒนากำลังคนและพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้เห็นชอบในเป้าหมายดังกล่าวแล้ว
เดินหน้าพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า
นอกจากภาพรวมของการพัฒนาและการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการวางโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งทาง สนพ. ได้วางแผนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
จากผลสำรวจปัจจุบันของผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น 80% ชาร์จที่บ้าน 15% ชาร์จที่ทำงาน และ 5% ชาร์จตามที่สาธารณะ แต่ในอนาคตหากคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ก็มีแนวโน้มจะชาร์จนอกบ้านมากขึ้น ปัญหาอื่นๆ อาจจะตามมา เช่น การแย่งที่ชาร์จนอกสถานที่
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สนพ. จึงได้ทำการสำรวจจำนวนรถยนต์ในแต่ละภูมิภาค และคำนวณว่าจำนวนรถที่น่าจะถูกนำมาใช้บนท้องถนน จะต้องมีจุดชาร์จรองรับเท่าไร ภายในปี 2030 รวมถึงการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยแบ่งเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการอัดประจุให้เพียงพอและครอบคลุม
คือการรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง สนพ. ได้วางแผนสนับสนุนการชาร์จในที่สาธารณะ ภายในปี 2025 ให้มีสถานีอักประจุไฟฟ้าแบบชาร์จไว (Fast Charge) 2,200 – 4,400 หัวจ่าย และภายปี 2030 ให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จไว (Fast Charge) มากถึง 12,000 หัวจ่าย ซึ่งปัจจุบัน ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 2,000 กว่าหัวจ่าย 900 กว่าแห่ง
ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ระบุจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (สำหรับรถยนต์) และ เครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า) ให้เหมาะสมออกเป็นแต่ละภาคอีกด้วย สำหรับแผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะ ใน ปี 2030 มีดังนี้
กรุงเทพมหานคร: จำนวนเครื่องอัดประจุ 3,670 เครื่อง และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3,131 สถานี
ภาคเหนือ: จำนวนเครื่องอัดประจุ 1,085 เครื่อง และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 960 สถานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จำนวนเครื่องอัดประจุ 1,189 เครื่อง และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,797 สถานี
ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก: จำนวนเครื่องอัดประจุ 1,364 เครื่อง และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,780 สถานี
ภาคใต้: จำนวนเครื่องอัดประจุ 919 เครื่อง และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 623 สถานี
2.การเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายไฟฟ้าและการบูรณาการร่วมกัน
เป็นการทำงานร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบควบคุมการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบ เพื่อตอบโจทย์การวางโครงข่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าให้ทั่วประเทศ โดยแผนในข้อที่ 2 นี้ จะเป็นการวางแผนครอบคลุมในเชิงพื้นที่ การกระจายตัวของสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงการดูโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าในบริเวณต่างๆ เพราะหากติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าถี่เกินไปก็อาจจะส่งผลเสียกับระบบสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ได้
ด้านแพลตฟอร์มสำหรับโครงข่ายการอัดประจุ จะพัฒนาแพลตฟอร์ม EV ซึ่งมีการพูดคุยกับการไฟฟ้า และผู้ประกอบการ เพื่อบูรณาการแพลตฟอร์มการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ คาดว่าปีหน้า (2023) จะได้เห็นรูปแบบของแพลตฟอร์มนี้
3.การปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านอุปกรณ์ มาตรฐานความปลอดภัย เพราะการชาร์จไฟจากที่บ้านนั้น หากติดตั้งระบบไฟไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดอันตรายได้
ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า และการขออนุญาตต่าง ๆ จะครอบคลุมตั้งแต่
-การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า/การแจ้งกิจการ
-การตรวจสอบและติดตั้งมิเตอร์ให้ผู้ประกอบการสถานีอัดประจุ EV จากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ติดตั้งสถานีฯ (กฟน. / กฟภ.)
จากการสนับสนุนด้านกฎหมายต่างๆ จะช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถประกอบกิจการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้
4.การยกระดับความพึงพอใจของผู้ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานการอัดประจุ
คือการสร้างประสบการณ์การใช้เครื่องอัดประจุที่ดี และการสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม EV ในแผนที่ 2 โดยครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนาระบบให้ใช้งานง่ายทั้ง การจองคิว การชำระเงิน รวมถึงการมีระบบวางแผนการเดินทางที่สามารถระบุตำแหน่งของสถานีอัดประจุที่ใช้งานได้ทั้งหมดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังรวมถึงการแก้ปัญหาการจัดสรรพื้นที่ให้มีทัศนียภาพที่ดี แก้ปัญหาการจอดขวางพื้นที่ของผู้ที่ไม่ได้ใช้สถานีชาร์จ และสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของการใช้งานเครื่องอัดประจุไฟฟ้า
5.การทำให้สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
คือการส่งเสริมให้ธุรกิจสถานีอัดประจุเป็นธุรกิจที่เติบโตเองได้ เช่น การขอติดตั้งจุดชาร์จของเอกชน จะทำงานร่วมกับ กฟน. และ กฟภ. โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงานนี้เข้ามาสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าโดยที่เอกชนไม่ต้องลงทุนมาก เช่นเดียวกับ ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ นิติโครงการสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่จอดรถบางส่วนเป็นจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ลูกบ้านได้ โดย สามารถลงทุนเองทั้งหมด หรือ ให้ กฟน. เข้าไปลงทุนติดตั้งให้ หรือ นิติโครงการจะลงทุนร่วมกับ กฟน. ก็ได้
นอกจากนี้นโยบายยังครอบคลุมถึงการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าบริการที่เหมาะสม เช่น การปรับราคาค่าชาร์จให้คงที่ตลอดทั้งวันเป็น Low Priority ซึ่งทาง สนพ. ได้วางแผนเสนอบอร์ด EV เพื่อกำหนดมาตรการราคาสำหรับการชาร์จให้เป็นราคาที่ต่ำที่สุดราคาเดียวตลอดทั้งวัน
6.การพัฒนาแผนการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ครอบคลุมตั้งแต่ ความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ทั้งในด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและการอัดประจุ ผ่านการประชาสัมพันธ์ การพัฒนาทักษะความรู้ให้กลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศอย่างจริงจังและยั่งยืน
อ่านข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ