แอร์เอเชีย ปรับตัวอย่างไร ในวันที่บินไม่ได้

ท่ามกลางการสถานการณ์อันรุนแรงที่เป็นดั่งมรสุมใหญ่ของธุรกิจสายการบิน ภาพที่ไม่เคยได้เห็นอย่างเครื่องบินจอดเรียงรายกันเป็นร้อยลำ กลายมาเป็นฝันร้ายแห่งความจริงของธุรกิจสายการบินในวันนี้

คุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทยแอร์เอเชีย ยอมรับว่า ตั้งแต่เปิดสายการบินมา 17 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์หนักขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตซึนามิ การประท้วงปิดสนามบิน ไข้หวัดนก สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นวิกฤตที่รุนแรง แต่ก็ไม่เคยปิดสนามบินเกิน 3 วัน กลับกันโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดบินเป็นเวลาหลายเดือน

ถามว่าการ “หยุดบิน” รุนแรงกับธุรกิจแค่ไหน เปรียบให้เห็นภาพเหมือนร่างการที่ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง แถมแผลนี้ทำให้เลือดไหลออกตลอดเวลา เพราะค่าใช้จ่ายยังดำเนินมาแบบไม่หยุดยั้ง เงินเดือนพนักงาน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน สารพัดรายจ่าย แต่รายได้ไม่มีเข้า

หากดูต้นทุนของสายการบินเอง จะพบว่าโครงสร้างของต้นทุน 30-40% ถูกตัดไปเป็นค่าน้ำมัน ที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าบำรุงรักษา ค่าการตลาด จึงต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่อย่างนั้นธุรกิจสายการบินอาจต้องปิดกิจการ หรือปลดพนักงานอีกมาก หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อใดที่สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติอาจไม่เหลือสายการบินอยู่อีกเลย

ส่วนธุรกิจแอร์เอเชียเอง คุณธรรศพลฐ์ บอกว่า ช่วงแรกที่เกิดโรคระบาด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเพียงไม่นาน แต่เมื่อการระบาดยาวนานกว่าที่มีการประมาณการไว้ จนต้องออกมาตรการต่างๆ สถานการณ์เหล่านี้ จะลากยาวขนาดไหน ไม่มีใครรู้แน่ชัด

ทางแอร์เอเชีย ประเมินว่า(อย่างน้อย) ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จะลากไปอย่างน้อยจนจบปี 2564 และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 เพราะวัคซีนยังต้องใช้เวลา ต่อให้ได้วัคซีนมาแล้วกว่าจะได้ฉีดกันอย่างทั่วถึงก็ต้องใช้เวลา แม้ได้ฉีดกันครอบคลุมแล้ว แต่การเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องของความรู้สึกที่คนต้องเชื่อมั่น

ซึ่งทางออกของธุรกิจเศรษฐกิจแบบนี้ มองว่า รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ เพื่อให้เงินไปหมุนเวียนในระบบและเกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ในจำนวนเม็ดเงินที่เกือบเท่ากัน โดยได้บอกในการประชุมกับรัฐบาลไปแล้ว ส่วนการจัดทำทราเวลบับเบิล มองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นทางออกที่ลงตัวอาจเป็นการท่องเที่ยวแบบ “ภูเก็ตโมเดล”

ข้อตกลงด้านการท่องเที่ยวจึงอาจเป็นในระดับเมือง เช่น ภูเก็จ จับมือกับเมืองที่ไม่มีการระบาดในระยะ 30 วัน ผู้โดยสารต้องกักตัวจากต้นทาง 7 วันและปลายทางอีก 7 วัน รวมทั้งหมด 14 วัน และต้องใช้การบินตรงจากเท่านั้น โดยให้ทำเป็นโครงการทดลองก่อน ซึ่งส่วนตัวคุณธรรศพลฐ์ ย้ำว่า การเปิดประเทศทั้งหมดเสี่ยงเกินไป หรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจ แอร์เอเชีย “เราไม่ทิ้งใครให้จมน้ำ” หรือบอกได้ว่า “จะไม่มีการปลดพนักงาน” แต่เมื่อพนักงานเป็นต้นทุนแล้วจะแบกทำไมน่ะหรอ?

คุณธรรศฐ์พล เล่าว่า วิธีการแก้ปัญหา คือ บอกพนักงานให้ชัดว่าเรามีปัญหาอย่างไร เมื่อทุกคนรับรู้ เข้าใจ ทุกคนก็พร้อมจะช่วยเหลือองค์กรที่ตัวเองรัก เมื่องานไม่มี เงินไม่เข้า ก็ให้พนักงานสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทำงานที่บ้าน หาอาชีพใหม่ๆ เช่น นำอาหารบนฟ้า ชานมไข่มุก มาขายในพื้นที่ใกล้สนามบิน โดยให้พนักงานที่ไม่มีงานมาทำการจัดส่งอาหารแทน และก็ประสบความสำเร็จจนนำรายได้ส่วนนั้นมาเลี้ยงดูแผนกนั้นได้เลย้

พนักงานหลายคนยอมลดเงินเดือนตัวเองอย่างพรอมใจเพื่อช่วยให้บริษัทเดินต่อได้ พนักงานหลายคนที่มีกำลังทรัพย์ก็ขอหยุดงานไม่รับเงินเดือนช่วยองค์กร แต่คนไหนที่เงินเดือนต่ำกว่า 20,000 จะไม่ตัด ไม่ลด เพราะเขาจะอยู่ไม่ได้

การไปเอาพนักงานออก มีเหตุผลอยู่ไม่กี่ข้อ คือ เราต้องมองว่าพนักงานเป็นทรัพย์สินที่มีค่าขององค์กร ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย การที่เราจะปลดคนก็ต้องจ่ายเงินชดเชย ที่หนักกว่าเงินชดเชย คือ หากใช้เวลา 1-2 ปี สถานการณ์กลับมาปกติ เราก็ต้องหาพนักงานใหม่ ฝึกใหม่ ทุกอย่างเป็นต้นทุนที่สูงกว่ามาก ฉะนั้นจึงอดทน ระยะเวลา 2 ปี ให้เรากลับมาบินสูงได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ สายการบินแอร์เอเชีย เคยขาดทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันหลังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และให้เริ่มมีการบินได้ยอดขาดทุนก็กลับตัวขึ้นมาดีขึ้นอยู่ที่ 400-500 ล้านบาทต่อเดือน

AirAsia #แอร์เอเชีย #สายการบิน

Scroll to Top