กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงข้อสงสัยกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ ถือว่านายจ้างมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวกรณีลูกจ้างหญิงร้องเรียนว่า นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี (สสค.นนทบุรี) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5)
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ว่าบริษัทเลิกจ้างเพราะเหตุมีการตั้งครรภ์ และลูกจ้างผู้ร้องมีความประสงค์เรียกร้องเงินตามกฎหมาย ได้แก่ ค่าจ้างจากการทำงาน ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยสรพ.5 ได้ส่งคำร้องให้ สสค.นนทบุรี ดำเนินการเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการ โดยพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงในส่วนของลูกจ้างและรวบรวมหลักฐานเอกสารและจะเรียกนายจ้างมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไป หากปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์จริง ถือว่านายจ้างกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามและไม่นำคดีขึ้นสู่ศาล ถือว่านายจ้างได้กระทำความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย
โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงมีครรภ์เป็นพิเศษ ได้แก่ การกำหนดลักษณะงานบางประเภทที่ห้ามมิให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลากหรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม หรืองานที่ทำในเรือ เป็นต้น รวมไปถึงการกำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงซึ่งมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. เนื่องจากหญิงมีครรภ์ต้องได้รับการพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ และต้องไม่ให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด เว้นแต่จะเป็น กรณีที่ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชีนายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่กระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างหญิงมีครรภ์โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป