โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รับแนวโน้มการผลิตรถยนต์ในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น โรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง เริ่มผลิตได้ดีขึ้น และเริ่มมีการจ่ายเงินล่วงเวลาบ้างเล็กน้อยแล้ว แม้จะยังเทียบไม่ได้กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 และ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยยอมรับว่า เป็นห่วงสถานการณ์การจ้างงาน และสภาพคล่องของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อย รายเล็ก ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเลิกจ้างแรงงาน ปิดกิจการ หากสภาพคล่องไม่ดี โดยมองว่าภาครัฐต้องเข้ามาดูแล ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ยังสามารถที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แม้ว่าจะเคยผิดนัดชำระหนี้มาในช่วงมาตรการล็อคดาวน์จากโควิด-19 ก็ควรได้รับการผ่อนผัน

นอกจากนี้ยังประเมินว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขณะนี้ ยังถือว่าเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในภูมิภาค แต่ในระยะยาวจากนี้อีก 5 ปี ค่ายรถยนต์จะมีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันค่ายรถยนต์เกือบทุกค่ายในไทย ต่างก็ขยายฐานไปเวียดนามเกือบทั้งหมดแล้ว เนื่องจากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในเวียดนามยังเติบโตได้ดี กำลังซื้อคนเวียดนามสูงขึ้น แม้จะชะลอลงบ้างในช่วงโควิด-19 แต่ก็ถือว่ายังเติบโตได้ ส่วนไทย ยังต้องพึ่งพาการผลิตแและส่งออกรถกระบะ และ อีโคคาร์ เป็นหลัก

สอดคล้องกับ นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เปิดเผยยอดขายรถยนต์ประจำเดือน ก.ค.63 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 59,335 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 26.8% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 18,500 คัน ลดลง 43.6% รถเพื่อการพาณิชย์ 40,835 คัน ลดลง 15.4% ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตันในเซกเมนท์นี้มีจำนวน 32,707 คัน ลดลง 15.9%

โดยสถานการณ์การขายของเดือน ก.ค.63 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลมีการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 ทำให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ ประกอบกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงมาตรการช่วยเหลือการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อให้เกิดการใช้จ่าย ส่งผลในเชิงบวกให้กับตลาดรถยนต์พร้อมมองกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านอีเว้นท์ใหญ่ อย่างมอเตอร์โชว์ และ บิ๊กมอเตอร์เซล ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคมมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.63) มีปริมาณการขาย 387,939 คันลดลง 35.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 42.2% ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 31.7%

Scroll to Top