บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ พร้อมเปิดโอกาสให้คนไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ไทยที่จะก้าวไปเป็นแบรนด์ระดับโลก พร้อมสร้างคุณค่าให้กับสังคมชุมชน ผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ช่วงราคาเสนอขาย 16.00 – 18.00 บาทต่อหุ้น สำหรับผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่และทุกสาขาทั่วประเทศและผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 24 มกราคม 2564 – เวลา 12:00 น. (เที่ยง) ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจัดสรรแบบวิธี Small Lot First เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึง และสำหรับผู้ถือหุ้น ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น สามารถจองซื้อได้ที่บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 25-28 มกราคม 2564 โดยคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “OR” ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้
โออาร์ ประกาศแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.5 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายได้แล้วของบริษัทฯ ภายหลังที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ (ในกรณีที่มีการเสนอขายหุ้นทั้งจำนวน โดยไม่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยแบ่งเป็น (ก) หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 300,000,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. (“ผู้ถือหุ้นของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น”) ทั้งนี้ ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 2,610,000,000 หุ้น หากมีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายดังกล่าว บริษัทฯ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินให้แก่ผู้ลงทุนจำนวนไม่เกิน 390,000,000 หุ้น อีกทั้ง การจัดสรรหุ้นของ OR ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยในครั้งนี้จะไม่มีการจัดสรรหุ้นผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่ โออาร์ พร้อมเดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหม่ ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากจุดแข็ง รากฐานทางธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตอันแข็งแกร่งของ โออาร์ เพื่อก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริง กับแนวคิดธุรกิจ “Retailing Beyond Fuel” วันนี้ เราพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมเป็นเจ้าของและต่อยอดสู่การเติบโตที่ไกลกว่าเดิม”
โออาร์ ดำเนินธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) อย่างผสมผสานกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่เช่า มีแบรนด์ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง เช่น “PTT Station” แบรนด์สถานีบริการน้ำมัน ที่มีสาขา 1,968 แห่งในประเทศไทย และ 329 แห่งในต่างประเทศ “Café Amazon” แบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำของประเทศไทยที่มีจำนวน 3,168 ร้านในประเทศไทย และ 272 ร้านในต่างประเทศ ศูนย์บริการยานยนต์ “FIT Auto” จำนวน 56 แห่งในประเทศไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ “7-Eleven” ในสถานีบริการ และแบรนด์ “Jiffy” จำนวนรวมกัน 1,960 ร้านในประเทศไทย และ 86 ร้านในต่างประเทศ เป็นต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)
ด้วยจุดแข็งและปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โออาร์ ในฐานะบริษัท Flagship ของ กลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก มีสถานีบริการน้ำมัน “PTT Station” ซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านความน่าเชื่อถือ คุณภาพ และความสะดวกครบครันในที่เดียว ความเป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 38.9 (เมื่อพิจารณาจากปริมาณการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการในปี 2562 โดย Wood Mackenzie) การมีเครือข่ายระบบจัดเก็บและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย การเดินหน้าพัฒนาธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ซึ่งส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี และความมีศักยภาพในการเติบโตสูงทั้งในและต่างประเทศ มีรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคงในประเทศกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว อีกทั้งยังมีความสามารถในการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีคณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน โออาร์ กล่าวว่า “เราขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ พัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภค ควบคู่กับการสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม”
ทั้งนี้ โออาร์ ได้วาง 6 กลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย (1) รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย (2) มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร (3) ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก (4) เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) (5) ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ (6) มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล
นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน โออาร์ กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน การขยายธุรกิจสำหรับตลาดพาณิชย์ การลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้า การขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ โดยมี บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และบริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30.0 ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี”
ทั้งนี้ โออาร์ มีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากกลุ่มธุรกิจน้ำมัน และมุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้เพิ่มจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีการเติบโตและอัตรากำไรอยู่ในระดับสูง โดย โออาร์ มีรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 543,275.7 ล้านบาท 592,072.8 ล้านบาท 577,134.0 ล้านบาท 430,341.1 ล้านบาท และ 319,308.4 ล้านบาท สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 วันที่ 31 ธันวาคม 2561 และวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 และวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิจำนวน 9,768.7 ล้านบาท 7,851.3 ล้านบาท 10,895.8 ล้านบาท 8,947.5 ล้านบาท และ 5,868.5 ล้านบาท สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 วันที่ 31 ธันวาคม 2561 และวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 และวันที่ 30 กันยายน 2563 ตามลำดับ (ทั้งนี้ ข้อมูลสำหรับปี 2560 และ 2561 อ้างอิงจากข้อมูลทางการเงินรวมเสมือน ในขณะที่ข้อมูลสำหรับปี 2562 และสำหรับงวดเก้าเดือนปี 2562 และ 2563 อ้างอิงจากงบการเงินรวมตรวจสอบตามกฎหมาย)