ไทยยูเนี่ยน คว้าอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) เป็นการแสดงถึงการได้รับการรับรองความก้าวหน้าจากการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® ซึ่งเป็นกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท
ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นกลุ่มดัชนีที่ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนหลายพันแห่ง และเคยได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ในปี 2561 และปี 2562
ไทยยูเนี่ยน ได้รับคะแนนความยั่งยืนในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรวมที่ 100 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ใน 18 หัวข้อ ได้แก่ 1. การสรุปประเด็นที่มีนัยสำคัญ 2. การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต 3. การโน้มน้าวด้านนโยบาย 4. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 5. การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 6. การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 7. นโยบายและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 8. ประสิทธิภาพการดำเนินงานเชิงนิเวศเศรษฐกิจ 9. ความหลากหลายทางชีวภาพ 10. การบริหารตามหลักเกษตรกรรมยั่งยืน 11. ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ 12. การรายงานด้านสังคม 13. สิทธิมนุษยชน 14. ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต 15. การดูแลและรักษาพนักงาน 16. ความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริจาคเพื่อการกุศล 17. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และ 18. สุขภาพและโภชนาการ ในขณะที่มิติด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ได้คะแนนที่ 97 เปอร์เซ็นต์ไทล์
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นทั้งในการดำเนินงานของเรา และตลอดทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก จากเป้าหมายองค์กรที่ต้องการ “สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน และดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล” ไทยยูเนี่ยนมีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงจะจัดการกับความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่ แต่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพด้วย” และเมื่อปีที่แล้ว ไทยยูเนี่ยนยังได้อันดับ 1 จากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) ซึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยประเมินจากการดำเนินงานที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท ดังนี้
* การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มที่โรงงานของบริษัทในจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แล้วรวม 7 เมกะวัตต์
* โรงงานแปรรูปปลาของไทยยูเนี่ยน ที่ประเทศเซเชลล์ หลังคาโรงงาน 30 เปอร์เซ็นต์ติดตั้งโซลาเซล์ ซึ่งสามารถผลิตไฟ คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานทั้งหมดในโรงงาน
* การเป็นพันธมิตรกับองค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Fisheries Partnership)<https://www.thaiunion.com/en/newsroom/press-release/1521/thai-union-announces-partnership-with-sustainable-fisheries-partnership> เพื่อสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของไทยยูเนี่ยน
* การปรับปรุงหลักการ Employer Pays Principle นั่นคือ แรงงานข้ามชาติไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการหางาน
* การตรวจประเมินการสภาพการทำงานบนเรือในทะเลโดยผู้ตรวจสอบลงพื้นที่บนเรือจริงๆ เป็นครั้งแรก<https://seachangesustainability.org/thai-unions-first-at-sea-assessment-strengthens-improvements-for-fishers-work-and-welfare/> และเป็นครั้งแรกของการตรวจประเมินในลักษณะนี้
* แสดงความเป็นผู้นำเรื่องการเงินเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Blue Finance) ด้วยการออกสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายที่สร้างประโยชน์ให้กับท้องทะเล
อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า “ที่ไทยยูเนี่ยน เราภูมิใจที่เป็นผู้นำและสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทะเลดำเนินการตาม ทั้งนี้เรายังมุ่งมั่นที่จะแสดงความเป็นผู้นำต่อไป โดยในช่วงต้นปี 2566 เราจะประกาศเป้าหมายการดำเนินงานใหม่ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® จนถึงปี 2573 ซึ่งจะมีเป้าหมายที่ท้าทายหลายเรื่องเช่น เป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตั้งอยู่บนหลักการ Science Based Targets Initiative”
ในแต่ละปี S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) จะทำการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทกว่า 10,000 แห่งทั่วโลก โดย CSA ช่วยให้บริษัทต่างๆ เช่น ไทยยูเนี่ยนสามารถวัดผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคมที่หลากหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักลงทุนที่เน้นเรื่องความยั่งยืน