จากงานวิจัยขององค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ และองค์การยูนิเซฟ พบว่าในปี 2565 เพียงปีเดียว มีเด็กที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ช่วงอายุ 12 – 17 ปี กว่า 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์และละเมิดทางเพศ และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้น ป.4 – ป.6 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ดำเนินการเพื่อเก็บข้อมูลในปีนี้ พบว่ากว่า 93% นักเรียนมีบัญชีโซเชียลส่วนตัว โดยสมัครเองถึง 89% ยิ่งไปกว่านั้น 84% ใช้เน็ตเล่นเกมออนไลน์ โดยมากกว่า 60% ของนักเรียนกลุ่มนี้ เคยคุยกับคนแปลกหน้าและรู้จักกันผ่านเกมออนไลน์ ดังนั้น เพื่อสร้างเกราะป้องกันคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อไอซีทีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ปลอดภัยจากการคุกคามในโลกไซเบอร์ ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงสานต่อความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เดินหน้าโครงการ “BMA x True Safe Internet” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ลงพื้นที่จัดหลักสูตรอบรมแก่ครูและนักเรียนกว่า 19,000 คน ในโรงเรียน 50 แห่งทั่วกทม.
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “หนึ่งในความท้าทายสำคัญด้านการศึกษา คือเยาวชนในยุคดิจิทัลนี้ ใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์มากยิ่งขึ้น เข้าสู่ภาวะติดการใช้มือถือ ซึ่งปัจจุบัน มีหลากหลายคอนเทนต์ในโลกอินเทอร์เน็ตที่แม้จะมีมาตรการควบคุมและติดตั้งระบบเพื่อห้ามไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ดังนั้นหัวใจ คือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่น้องๆ นักเรียน รวมถึงคุณครูและผู้ปกครอง ซึ่งโครงการ BMA x True Safe Internet มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเกราะป้องกันดังกล่าวให้แก่เยาวชน ด้วยการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เนื้อหาสนุก สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งปัจจุบัน ภัยคุกคามไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบ มิจฉาชีพต่างมีวิธีการใหม่ๆ ซึ่งต้องปรับเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการนี้ จะนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กรุงเทพมหานครและสังคมต่อไป”
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังกับกรุงเทพมหานคร จัดโครงการ “BMA x True Safe Internet” ปีที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ True Cyber Care ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการผสานศักยภาพของทั้งทรูและดีแทค ในการก้าวเป็นเทเลคอม-เทคคอมปานี ที่ต้องการร่วมยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล ขับเคลื่อนสังคมแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และบริการโทรคมนาคมอย่างปลอดภัย พร้อมป้องกันและเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้เยาวชนและคนในสังคมตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ อันสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนองค์กรในการสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน หรือ Digital Inclusion ให้บรรลุ 36 ล้านคนภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพในทุกมิติ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป”
สำหรับกิจกรรมปีนี้ ยังคงครบเครื่อง โดยในส่วน School Tour ลงพื้นที่พบปะน้องๆ นักเรียนนั้น ได้จัดคอร์สเข้มข้นให้ความรู้ “การล่อลวงเด็กในโลกออนไลน์” เรียนรู้การรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ตรวจสอบแยกแยะข่าวไหนจริงหรือหลอกลวง รู้เท่าทันเทคนิกของพวกมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน วิธีป้องกันและขอความช่วยเหลือเมื่อเจอผู้ไม่หวังดี ซึ่งปีนี้ จะเสริมด้วยหลักสูตร “รู้ทันโลกออนไลน์” จากทรูปลูกปัญญา ทั้งป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ การตั้งพาสเวิร์ด รูปแบบและโทษของ Cyberbullying ภัยโซเชียลมีเดียใกล้ตัว กฎหมายอินเทอร์เน็ตน่ารู้ และ Fake News ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิศานติวัฒนธรรม ให้การสนับสนุนหลักสูตร “พอกันที กรูมมิ่ง” จัดอบรมให้ครูมีความรู้ ทักษะ และสามารถสร้างเครื่องมือสื่อสารกับเด็ก ช่วยสอดส่องดูแลให้เด็กรู้จักระวังภัยและป้องกันตัวเองจากการกรูมมิ่งในโลกออนไลน์ และเตรียมพบกับอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์ยอดนิยมกับการแข่งขันโต้วาที “Battle for Better” ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เปิดเวทีให้ผู้กล้าวัยใสได้ปล่อยพลัง นำเสนอไอเดียและข้อคิดเห็นด้านจริยธรรมเทคโนโลยีและสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนจะต้องทึ่งและประทับใจแน่นอน