ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง จับมือ “สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง” (RILA) และ “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC)” สานต่อโครงการศึกษาธรรมชาติและน้ำ “มิตซุยกุ” ต่อเนื่องปีที่ 2 ในพื้นที่ จังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นเมืองต้นแบบการรักษ์น้ำ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและผลักดันให้เด็ก เยาวชนและคนในพื้นที่เกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับน้ำและธรรมชาติ สร้างการรับรู้ถึงความสําคัญของนํ้าที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดํารงชีวิต เห็นถึงภัยคุกคามของนํ้าที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ สามารถนําองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์นํ้าในจังหวัดระยองอย่างยั่งยืน
อัชวิน ราชโกปาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย และอินโดไชน่า กล่าวว่า ความร่วมมือนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อคำมั่นสัญญา ‘มิซุ โตะ อิคิรุ’ (Mizu To Ikiru) หรือการมีชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำ ตลอดจนตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทแม่ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Growing for Good’ (การเติบโตอย่างยั่งยืน) โครงการมิตซุยกุเป็นโครงการรักษ์น้ำที่ส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์น้ำและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราได้ดำเนินโครงการฯ ร่วมกับโครงการ #กอดป่ากอดทะเล โดยลงพื้นที่ไปยังจังหวัดภูเก็ตเพื่อส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชนและคนในพื้นที่ร่วมกันคืนความยั่งยืนสู่แหล่งน้ำและธรรมชาติ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทุกฝ่าย
–ย้อนความสำเร็จของโครงการผลิตเครื่องตรวจจอประสาทตา EYELIKE ที่เปลี่ยนเทคโนโลยีสู่การปกป้องผู้คนและโลก
–ส่องเทรนด์สังคมอุดมผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยแบบไหนโดนใจวัยเกษียณ
“สำหรับในปีนี้ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ “สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง” (RILA) และ “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC)” ดำเนินโครงการรักษ์น้ำ มิตซุยกุ ในพื้นที่ จ.ระยอง พื้นที่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ นับเป็นการร่วมมือที่มีความมุ่งมั่นเดียวกัน คือ การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ภายใต้การร่วมมือครั้งนี้เกิดจากการผสานองค์ความรู้ของโครงการมิตซุยกุ และศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนให้กับผู้ร่วมกิจกรรม โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ
อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน RILA ในการคัดเลือกโรงเรียนเพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ไปยังคนในพื้นที่ และนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ในโครงการแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ 3 ชุ่มน้ำ จังหวัดระยอง ที่ริเริ่มโดยทางสถาบัน กิจกรรมในปีนี้มุ่งเน้นไปที่นักเรียนระดับประถมศึกษาและครูในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ 3 แหล่งน้ำใน จังหวัดระยอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม เริ่มจาก Train the trainers กิจกรรมฝึกอบรมคุณครู
ปีนี้เราได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มครูในสถานศึกษาเพื่อให้ครูส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่เด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักได้กว้างขวางมากขึ้น ต่อด้วย Orientation พาครูและนักเรียนเรียนรู้ผ่านห้องเรียนธรรมชาติในพื้นที่ และสุดท้ายกิจกรรม รักษ์น้ำ แคมป์ พาครูและนักเรียนไปยังสถานที่แหล่งต้นน้ำ โดยกิจกรรมทั้งหมดเรามีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชน คนในพื้นที่ และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความตระหนักรู้ และเห็นถึงคุณค่าของน้ำ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปประยุกต์ใช้และต่อยอดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน”
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัย จังหวัดระยอง กล่าวว่า “RILA หรือ สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จังหวัดระยอง จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างระยองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้คนระยองทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย ด้วยระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างคุณลักษณ์ของคนระยองยุคใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนได้มากที่สุด การร่วมมือครั้งนี้จะสามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้โครงการแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ 3 ชุ่มน้ำ จังหวัดระยอง
ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับน้ำใน จ.ระยอง ปลูกฝังให้คนในจ.ระยอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรอบตัวให้รู้จักคุณค่าและใช้น้ำอย่างเหมาะสม แหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 แห่งนี้ ก่อตั้งเป็นแหล่งความรู้และอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนและทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำและพรรณไม้ท้องถิ่นเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติที่สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และก่อให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยหลังจากกิจกรรม Train the trainers สถาบัน RILA จะทำการคัดเลือกโรงเรียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ ณ ทุ่งโปรงทอง เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเรียนรู้จากสถานที่จริง RILA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะผลักดันให้คนระยองตระหนักถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทำให้จังหวัดระยองเป็นต้นแบบในการรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
อเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) กล่าวว่า “ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) มุ่งหวังที่จะจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมพร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติ ผมรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ และครั้งนี้มีความพิเศษยิ่งขึ้น เพราะได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคุณครู ในการนำไปต่อยอด ออกแบบ และจัดกิจกรรมในสถานศึกษาของตนเอง เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจต่อการรักษ์ธรรมชาติ และรักษ์น้ำให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอน องค์ความรู้ที่นำไปมอบให้แก่คุณครูและนักเรียนที่ร่วมโครงการฯจะมุ่งให้เห็นถึงน้ำที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ในการหล่อเลี้ยงชีวิต อุปโภค บริโภค และเกษตรกร เป็นต้น ภายใต้แนวคิด ‘Give Balance to the Water and the World’ ให้น้ำยังคงอยู่ และอุดมสมบูรณ์ต่อไป ผ่าน
1) กิจกรรม Train the Trainers: มอบองค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำ เพื่อร่วมกันพัฒนาและออกแบบกระบวนเรียนรู้ “สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน”
2) กิจกรรมปฐมนิเทศน์ (Orientation) เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจต่อความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพื่อเกิดความหวงแหนและแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำในบ้านเกิดของตนเอง พร้อมส่งต่อความสำคัญของการอนุรักษ์ไปยังบุคคลรอบข้าง
3) กิจกรรม On camp: “รักษ์น้ำ แคมป์” เปิดประสบการณ์สัมผัสธรรมชาติ ในมุมมองใหม่ ๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งต้นน้ำ ในจังหวัดนครนายก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และสร้างกระบวนการความคิดต่อการตระหนัก การอนุรักษ์ และนำไปลงมือปฏิบัติพัฒนาในบ้านเกิดของตนเอง”