เป็นเวลากว่า 12 ปีที่ซีพีแรมได้ทำ “โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” สะสมการปล่อยลูกพันธุ์ปูม้ามาแล้วกว่า 1 ล้านตัว และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ซีพีแรมขยายผลในพื้นที่ทะเลอันดามัน ลงพื้นที่ จ.ระนอง ปล่อยปูม้า 2 แสนตัวสู่ทะเล เพื่อสร้างคงามสมดุลกับระบบนิเวศของทะเลไทย และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือ (Food Security) ที่เป็น 1 ในแนวทาง FOOD 3S อีกด้วย
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า ซีพีแรม เป็นบริษัททำอาหารสำเร็จรูปให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย ใช้เนื้อปูม้าทำอาหารหลากหลายอย่างด้วยกัน ทำให้บริษัทต้องกลับมาคิดกันว่า หากจะทำให้มีเนื้อปูม้ามารับประทานกันอย่างต่อเนื่อง จะต้องสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทยอย่างไรเพื่อเป็นการสร้างสมดุล จึงเริ่มต้น “โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” ครั้งแรกในปี 2555 เพราะเห็นว่าเมื่อจับปูม้าขึ้นมา จะมีแม่ปูม้าที่มีไข่ติดมาด้วย ถ้าปล่อยให้แม่ปูมาได้ปล่อยลูกออกมาก็จะมีลูกปูม้าจำนวนมหาศาลพร้อมเติบโตในทะเลได้ แต่การจะปล่อยลูกปูม้าที่เล็กมากๆ โอกาสรอดจะต่ำ มีโอกาสเป็นอาหารของสัตว์ทะเลตัวอื่นได้ ซีพีแรมจึงเลี้ยงลูกปูม้าเหล่านี้ให้โตขึ้นมาเป็น Young Crab ขนาดตัวเท่ากับเม็ดกระดุม มีแขนขาเป็นปูที่สมบูรณ์แบบ ทำให้มีโอกาสรอดสูงขึ้น
“การปล่อยลูกปูม้าแต่ละครั้งเราศึกษามาอย่างดี ไม่ได้จบเพียงแค่ว่าปล่อยออกไป แต่จะต้องมีโอกาสรอดสูง เป็นปูม้าตัวใหญ่ได้ ซึ่งจุดที่เราปล่อยเป็นชายหาที่สะอาดและมีทรายที่พร้อมให้ปูม้าฝังตัว สามารถหลบและออกมาอาหารได้ ที่ผ่านมา เมื่อเราปล่อยลงไปในทะเลอ่าวไทย พบว่าจำนวนปูม้าในทะเลมันเพิ่มขึ้น โดยรู้ได้จากชาวประมงที่ออกไปจับปูม้า บอกว่าปูม้ามีมากขึ้น ทำให้เราเดินหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ปล่อยครั้งละ 1-2 แสนตัว จนปัจจุบันเราปล่อยปูม้าไปแล้วมากกว่า 1 ล้านตัว”
สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ซีพีแรมมาปล่อยปูม้าฝั่งทะเลอันดามัน เพราะปูม้าที่ได้นั้นได้มาจากทั้งสองฝั่งทะเล จึงต้องคืนความสมดุลให้กับฝั่งอันดามันด้วย สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ซีพีแรมนำลูกปูม้ามาปล่อยมากถึง 200,000 ตัว ที่จังหวัดระนอง เพราะระนองเป็นจังหวัดที่มีชายหาดที่ยาวและมีป่าโกงกางให้ปูม้าหลบได้เพราะฉะนั้นจะทำให้อัตราการรอดสูงมาก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตปูม้า ที่ซีพีแรมได้รับการสนับสนุนเรื่องปูม้าจากพื้นที่นี้อีกด้วย
เดินหน้าสร้างความยั่งยืนด้านอาหาร
การปล่อยปูม้านั้นเป็น 1 ในแนวทาง FOOD 3S (Food Safety, Food Security and Food Sustainability) ของซีพีแรม คือด้านความมั่นคงทางอาหาร หรือ (Food Security) ช่วยให้คนมีอาหารทานอย่างสม่ำเสมอ และจะส่งผลไปถึงด้านความยั่งยืนทางอาหาร หรือ (Food Sustainability) คือการทำสร้างความสมดุลกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพของชาวประมงในพื้นที่อีกด้วย