หัวเว่ย ประเทศไทย ร่วมสนับสนุนโครงการ “Girls in ICT” เสริมสร้างศักยภาพสตรีสู่ยุคดิจิทัล

หัวเว่ย ประเทศไทย ร่วมสนับสนุนโครงการ “Girls in ICT” เสริมสร้างศักยภาพสตรีสู่ยุคดิจิทัล

ภายในงาน International Girls in ICT Day ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้น ภายใต้ธีม “Digital Skills for Life!” บริษัท หัวเว่ย (เทคโนโลยี่) ประเทศไทย จำกัด ประกาศจุดยืนเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางด้านดิจิทัล พร้อมเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงในยุคดิจิทัล ผ่านทางการจัดกิจกรรมฝึกอบรม งานสัมมนา และการถ่ายทอดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่าปัจจุบัน มีจำนวนผู้หญิงที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีสัดส่วนอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชายซึ่งอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้โอกาสการเติบโตในสายอาชีพด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ลดน้อยลงตามไปด้วย

เนสกาแฟ เดินหน้าสร้างอนาคตยั่งยืนให้วงการกาแฟไทย ชูหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู

ในประเทศไทย กิจกรรม Girls in ICT Day จัดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจุดประกายให้เหล่าเยาวชนหญิง ที่สนใจศึกษาต่อในสาขา STEM ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล และสร้างความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีไอซีทีอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย กิจกรรมประกอบไปด้วยหลักสูตรฝึกอมรมที่หลากหลาย ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ ITU โดยมีหัวเว่ยเป็นพันธมิตรหลักในการจัดกิจกรรมและโครงการฝึกอบรม เพื่อลดและปิดช่องว่างด้านดิจิทัลใน 3 ด้านหลัก

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย (เทคโนโลยี่) ประเทศไทย จำกัด ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้ว่า “ด้านที่ 1 คือการปิดช่องว่างด้านทักษะและความรู้ โดยหัวเว่ย เชื่อว่าความรู้คือพื้นฐานขั้นแรกของการขจัดประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในโลกดิจิทัล ดังนั้น หัวเว่ยจึงจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านไอซีทีในหลากรูปแบบและหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อด้านการพัฒนาโครงข่าย 5G การพัฒนาระบบคลาวด์ การลงมือปฏิบัติ รวมไปถึงการเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมและนิทรรศการต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการจุดประกายให้ผู้หญิงหันมาสนใจอาชีพในสาย STEM กันมากขึ้น หัวเว่ยยังจัดงานสัมมนาด้านอาชีพให้นักศึกษาที่สนใจได้พบปะพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีในสาขาต่างๆ โดยตรง พร้อมทั้งมอบโอกาสในการฝึกงานสำหรับนักศึกษาที่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด”

สำหรับด้านที่ 2 คือ “การปิดช่องว่างด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อ” ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีคือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ หัวเว่ยจึงเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ในการปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงครัวเรือนได้มากขึ้น โดยหัวเว่ยได้พัฒนาแนวคิดหมู่บ้าน Giga-village โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายไฟเบอร์และสัญญาณ 5G ในการเข้าถึงครัวเรือนตามพื้นที่ห่างไกลด้วยเทคโนโลยี FWA นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา หัวเว่ย ยังได้ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และ ITU เพื่อจัดทำเอกสารสมุดปกขาว “Giga Thailand” ภายใต้หัวข้อ “ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน” (Digital Infrastructure Benefits Everyone) ทั้งนี้ หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าสานต่อตามแนวทางดังกล่าวควบคู่ไปกับแนวปฏิบัติ Connect 2030 ของ ITU

ด้านสุดท้ายคือ “การปิดช่องว่างด้านแอปพลิเคชัน” การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเพิ่มคุณค่าใดๆ ให้กับผู้คนได้หากขาดแอปพลิเคชันที่ดี ดังนั้น หัวเว่ยจึงเดินหน้าพัฒนาโซลูชันด้านการศึกษาทางไกลและการแพทย์ทางไกลด้วย 5G ภายใต้โครงการ USO เพื่อให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการบริการดังกล่าวได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งหัวเว่ยจะเชิญนักเรียนนักศึกษาหญิงในโครงการ “Girls in ICT 2023” มาสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตัวเองอีกด้วย

หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและสตรีได้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีไอซีที และสามารถนำไปต่อยอดทางด้านอาชีพในอนาคตได้ ทั้งนี้ ในยุคดิจิทัล มุมมองและความมีส่วนร่วมของผู้หญิงจะสร้างความหลากหลาย และเป็นกุญแจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสรีภาพและความมั่นคงอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยจึงได้ประกาศความร่วมมือกับ ITU เพื่อจัดกิจกรรม “เดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที (Walk into ICT Industry)” เพื่อส่งเสริมทักษะและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยตัวแทนนักศึกษากว่า 20 คนจากทั่วประเทศ ได้รับเชิญให้เข้าเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ (Customer Solution Innovation & Integration Experience Center หรือ CSIC ของหัวเว่ยในจังหวัดกรุงเทพฯ และเข้ารับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลโดยทีมงานจาก Huawei ASEN Academy

นอกจากนี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้จับมือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับผู้หญิงครั้งแรกของประเทศไทย งานแข่งขัน ‘Women: Thailand Cyber Top Talent 2022’ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ไม่เพียงจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง และเพาะบ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทยอีกด้วย

ตามพันธกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” (Grow in Thailand, Contribute to Thailand) หัวเว่ยพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคนเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์

Scroll to Top