ยัสปาล กรุ๊ป เปิดโครงการ JASPAL GROUP Scholarship Program ชวนคิดตีโจทย์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน

ยัสปาล กรุ๊ป เปิดโครงการ JASPAL GROUP Scholarship Program ชวนคิดตีโจทย์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน

เพราะเชื่อมั่นในความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์คนรุ่นใหม่ “ยัสปาล กรุ๊ป” จึงมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมความสามารถของนักออกแบบรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยล่าสุดได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตนักศึกษาสาขาแฟชั่นดีไซน์ ในโครงการ JASPAL GROUP Scholarship Program จำนวน 7 คน ทุนการศึกษาทุนละ 200,000 บาท รวม 1,400,000 บาท พร้อมได้รับประสบการณ์ตรงในการฝึกงานกับแฟชั่นดีไซเนอร์มืออาชีพของแบรนด์ดังต่างๆ ในยัสปาล กรุ๊ป อย่างใกล้ชิด

เควินทร์ สิงห์สัจจเทศ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยัสปาล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ยัสปาล กรุ๊ป เราเชื่อมั่นใน The Power of Next ที่เป็นพลังศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ด้วยความแข็งแกร่งขององค์กรในฐานะผู้นำของอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพและเป็นพลังขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป จึงได้ริ่เริ่มโครงการ JASPAL GROUP Scholarship Program ซึ่งในปีนี้ได้ถูกจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นโครงการเฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ครั้งแรกของวงการแฟชั่นเมืองไทยที่มอบการสนับสนุนแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ทุนการศึกษา ไปจนถึงโอกาสการทำงานกับนักออกแบบมืออาชีพ โดยในปีนี้มีนิสิตนักศึกษาสนใจส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกถึง 82 ผลงาน ภายใต้โจทย์ “Sustainability” หัวข้อที่อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก รวมถึงยัสปาล กรุ๊ปให้ความสำคัญอย่างมาก

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดพรีออเดอร์ กระเป๋ารักษ์โลก “I am Reborn from Screen” เวอร์ชั่น 2 วันที่ 1 พ.ย.นี้

นิสิตนักศึกษาทั้ง 7 คน ผู้ชนะทุนการศึกษาและได้รับโอกาสฝึกงานกับดีไซเนอร์แบรนด์ดังในบริษัทฯ ได้แก่ คุณธนัชพร วรธงไชย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, คุณฐิติวุฒิ ใจภักดี และ คุณทศพร ภู่ถาวร จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คุณอรรถพล มีพันธ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณเอเซีย เสนาขันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณธนดล คันยุไร จากมหาวิทยาลัยรังสิต และคุณณัชชา พงษ์พันธ์เกษม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยบางท่านได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประสบการณ์ฝึกงานกับดีไซเนอร์มืออาชีพและแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน อาทิ

ธนัชพร วรธงไชย หรือ น้องไหม นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย บอกว่า รู้จักโครงการจากที่บริษัทเข้าไปประชาสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีที่แล้ว และอยากทดสอบผลงานของตัวเองนอกรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งการได้ออกมาเรียนรู้โลกภายนอกได้ประโยชน์มาก เพราะในมหาวิทยาลัยสิ่งที่ทำจะเป็นครีเอทีฟอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องการขาย แต่ในโลกการทำงานจริงได้เรียนรู้เกี่ยวกับแฟชั่นในเชิงพาณิชย์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ที่ต้องคำนึงถึงลูกค้า คำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย และความเป็นตัวตนของแบรนด์ “

น้องไหมกล่าวถึงเรื่องแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น หลายๆ แบรนด์เริ่มนำวัสดุรีไซเคิลเข้ามาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการในชุดนี้ แต่ต้องคำนึงถึงดีไซน์ที่ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ด้วย ส่วนในมุมการออกแบบแฟชั่นสามารถทำได้หลายทาง ทั้งเรื่องวัสดุ และกระบวนการทำงาน เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำ หรือลดกระบวนการทำงานลง โดยส่วนตัวอยากนำเสนอความยั่งยืนในด้านการออกแบบ ผ่านการทำเสื้อผ้าที่ใส่ได้นานขึ้น แต่ไม่ได้อยากให้เป็นไอเทมคลาสสิค จึงเพิ่มดีไซน์เข้ามาปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นของเสื้อผ้า เพื่อความสนุกในการแต่งตัวที่ยังอยู่บนพื้นฐานของไทม์เลส ดีไซน์

ด้าน ณัชชา พงษ์พันธ์เกษม หรือ น้องเมย์ นักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่เด็ก และอยากเป็นเจ้าของแบรนด์ กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะชอบและสนใจเรื่องความยั่งยืน โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และยังได้นำแนวคิดเรื่องนี้ไปทำธีซิสด้วย โดยตอนนี้กำลังดูว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานน่าสนใจมากขึ้น เพราะความยั่งยืนเกี่ยวกับแฟชั่นมีความหลากหลายมาก ทั้งเรื่องการผลิตใหม่ การใช้ซ้ำ และซีโร่ เวสต์ แต่มองว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ และใช้สินค้าใหม่มากกว่า ดังนั้น ความยั่งยืนน่าจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิตจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่า

“อยากชวนน้องๆ ให้เข้ามาลองหาประสบการณ์จากโครงการนี้ เพราะการฝึกงานทำให้โตขึ้นและได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัย ผลงานที่ทำจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น มีพี่ๆ ช่วยคิดว่าทำให้งานตอบโจทย์ได้หลากหลายมากขึ้น ต่างจากในมหาวิทยาลัยที่จะจำกัดกลุ่มเป้าหมายตามที่เรากำหนด สุดท้ายคืออยากให้โครงการนี้สนับสนุนน้อง ๆ รุ่นต่อไปอีกเรื่อย ๆ”

ทศพร ภู่ถาวร หรือ น้องอาร์ม นักศึกษาสาขาแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจอยากเป็นดีไซเนอร์ บอกว่า ได้รับอิทธิพลมาจากแม่ที่เป็นคนชอบแต่งตัว ซึ่งการเลือกเรียนในสายนี้ถือว่าตรงกับความต้องการของตัวเอง ความคิดแรกที่เข้าสมัครร่วมโครงการของยัสปาล กรุ๊ป คือ อยากได้ทุนไปพัฒนาธีซิสให้ดี จึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง รวมถึงการมีโอกาสฝึกงานทำให้ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เรื่องการหาเทรนด์ การดีไซน์แบบล่วงหน้า การออกแบบเพื่อให้คนในวงกว้างเข้าถึงแบรนด์ง่ายขึ้น ที่สำคัญสวมใส่ได้จริง

“ในช่วงเวลาที่ฝึกงาน ได้มีผลงานที่ออกมาขายจริงด้วย รู้สึกดีใจมากที่จะได้เห็นคนใส่เสื้อผ้าที่เราออกแบบร่วมกับพี่ๆ รู้สึกว่าโครงการนี้ดีมากๆ ยังไม่เคยเจอบริษัทไหนที่มีโครงการแบบนี้ มีความชัดเจนเรื่องการสนับสนุนนักศึกษาที่บางคนอาจจะมีทุนทรัพย์น้อย แต่มีความสามารถได้มีโอกาสต่อยอดทั้งการทำธีซิส และเส้นทางในอนาคต อยากให้น้องๆ รุ่นถัดไปเข้ามาลองวัดความสามารถกัน ถ้าได้รับคัดเลือกก็จะเป็นการสนับสนุนชีวิตของตัวเองได้”

น้องอาร์ม สะท้อนมุมมองเรื่องความยั่งยืนว่า โดยส่วนตัวเน้นการดีไซน์ชุดใหม่ที่ใส่ได้จริง และใส่ได้ยาวนาน คือสามารถใส่ได้หลากหลายและคุ้มค่า โดยความยั่งยืนในแบรนด์ของตัวเองในอนาคต มองถึงการนำเรื่องของภูมิปัญญาของไทย และสิ่งรอบๆ ตัวมาใช้ เช่น ยางพารา สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย แต่หากในมุมของแฟชั่นคิดว่าน่าจะนำมาพัฒนาเป็นสินค้าแฟชั่นได้ เช่น การนำยางพารามาผสมเป็นหนังเทียม เอามาทำกระเป๋าหรือเครื่องประดับ ได้ ทั้งยังนำมาพัฒนาเป็นเส้นใยได้ ที่สำคัญการใช้ยางพาราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยด้วย

ปิดท้ายกับเด็กเรียนดีสายวิทย์ที่สนใจศิลปะและอยากเป็นดีไซเนอร์ ธนดล คันยุไร หรือ น้องดิว นักศึกษาสาขาวิชาแฟชั่นดีไซน์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า “ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากการเรียนสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย มาเป็นสาขาแฟชั่นดีไซน์ ด้วยความมุ่งมั่นทำให้ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 มาตลอด และตั้งใจที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการของยัสปาล กรุ๊ป ซึ่งดีใจมากที่ได้รับทุนการศึกษา เพราะถือเป็นอีกบทพิสูจน์ของความตั้งใจแม้เปลี่ยนสาขามาเรียนด้านนี้ก็สามารถทำให้ทุกคนภูมิใจได้ โดยจะนำทุนไปใช้ในการทำศิลปนิพนธ์”

“โครงการของยัสปาล กรุ๊ป ดีมากๆ รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วม ซึ่งเด็กเก่งอีกมากที่ขาดทุนทรัพย์จะได้มีโอกาสมากขึ้น ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง สิ่งที่อยากจะฝากกับรุ่นถัดไป คือขอให้รักษาความเป็นตัวเองไว้ เพราะจะทำให้เราโดดเด่น แตกต่างจากคนอื่น และเมื่อเรามีความเป็นตัวตน หรือ Identity วันหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้ก็ควรคำนึงถึงความเป็นตัวตนของคนอื่น เพื่อนำมาปรับกับเราด้วย เพื่อให้เกิดผลงานที่ดียิ่งขึ้น ส่วนเรื่องความยั่งยืนนั้น ผมให้ความสำคัญกับการนำมาให้ซ้ำมากกว่าการผลิตใหม่ ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การวางแพทเทิร์นไม่ให้เหลือทิ้ง หรือเหลือน้อยที่สุด หรือการนำผ้าเก่ามาเอาเส้นใยออกแล้วทอเป็นผืนใหม่”

Scroll to Top