คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีฯ และกลุ่มทรู โดยดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ภาคภูมิใจผลงานจากโครงการทรูแล็บ จรวดความเร็วเสียง ชื่อ “เคอร์เซอร์-1” (CURSR-1) ที่ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนากับนิสิตชมรมซียูฮาร์ (Chulalongkorn University High Altitude Research Club – CUHAR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถผ่านการคัดเลือกอันเข้มข้น จนได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก “Spaceport America Cup 2022” ณ เมือง Las Cruces รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มทรู ได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 2,200,000 บาท อีกทั้งยังมอบซิมทรูมูฟ เอช โรมมิ่ง รวมมูลค่า 255,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารให้ราบรื่น ไม่สะดุด แก่อาจารย์ที่ปรึกษาและน้องๆ นิสิตตลอดการเดินทางไปแข่งขันเพื่อพิชิตชัยชนะในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ การสนับสนุนดังกล่าว สะท้อนความมุ่งมั่นของกลุ่มทรู ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งทรูแล็บ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วประเทศ ในการส่งเสริมงานวิจัยภาคการศึกษา เชื่อมโยงผลงานนวัตกรรมยุคใหม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ตลอดจนสร้างพื้นที่เรียนรู้ ให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรได้ค้นคว้าวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมเปิดโอกาสให้นวัตกรไทยได้แสดงศักยภาพ สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
–หัวเว่ย เผยนวัตกรรมที่จะปฏิวัติวงการ AI, 5G และประสบการณ์ผู้ใช้งาน
–สจล. พาส่องนวัตกรรมช่วยเพิ่มรายได้ – ต่อยอดธุรกิจ ปักหมุด 4 เส้นทางลัดของคนตัวเล็กที่จะกลายเป็นใหญ่ในอนาคต