จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้คนต้องปรับตัวในการทำงาน ไลฟ์สไตล์การทำงานของคนเปลี่ยนไป สอดคล้องกับข้อมูลจากสื่อในต่างประเทศที่มองว่า วิถีการทำงานของคนในอนาคตจะเปลี่ยนไป เป็นการทำงานในรูปแบบ Smart Office มากขึ้น หมายความว่าการทำงานหลังจากนี้พนักงานจะสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ ด้าน เอสอาร์ที แอสเสท เป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานแรกๆ ของไทยที่ตัดสินใจปรับรูปแบบการทำงานเป็น Smart Office ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท
ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวกับ BiztalkNews ว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าจะเช่าออฟฟิศและตกแต่งภายในให้มีความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ มีพื้นที่สำหรับประชุมในบรรยากาศสบายๆ แต่ด้วยขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลานาน จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่สำนักงานที่สามย่านมิตรทาวน์ เป็น Coworking Space ซึ่งตอบโจทย์กับแผนที่วางไว้ ต้นทุนค่าเช่าถูกกว่าการไปเช่าออฟฟิศ การเดินทางสะดวกสบาย พื้นที่ใช้สอยค่อนข้างตอบโจทย์
–เปิดมุมมอง “วี-ปวริศา ชุมวิกรานต์” กับการปรับโฉมธุรกิจประกัน ด้วยกลยุทธ์ Brand Experience
–LINE BK จับมือ MTL พัฒนาบริการประกัน ตอบโจทย์การเป็น Social Banking ที่มีบริการทางการเงินครบครัน
พื้นที่สามารถรองรับพนักงานส่วนหนึ่งที่ต้องเข้ามาออฟฟิศทุกวัน มีห้องประชุมสำหรับให้ลูกค้าเข้ามาคุยงานได้ หรือให้พนักงานประชุมแบบออฟไลน์ได้ในกรณีที่ต้องเข้ามาเจอหน้ากัน และยังมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้พนักงานที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศนั่งสบายๆ ได้
“เราพยายามทำให้การทำงานมีความ Smart มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลดการใช้กระดาษให้มากที่สุด ตามนโยบายของภาครัฐที่อยากจะให้หน่วยงานรัฐต่างๆ เปลี่ยนจากการใช้กระดาษมาเป็นการใช้ไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทน”
ไตรทิพย์ กล่าวต่อว่า ด้วยความที่เป็นองค์กรตั้งใหม่ การเริ่มต้นปรับตัวจึงง่ายกว่าหน่วยงานอื่นที่ตั้งมาก่อนซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยาก นอกจากนี้ พนักงานของ เอสอาร์ที แอสเสท ส่วนมากเป็นเด็กรุ่นใหม่ อายุ 25-35 ปี และเนื้องานส่วนมากไม่จำเป็นต้องให้คนเข้ามาเจอตัวกันตลอดเวลาในออฟฟิศ
ทำงานให้ Smart ต้องก้าวข้ามกฎระเบียบ และคน
การที่ เอสอาร์ที แอสเสท เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะมีข้อกำหนดบางอย่างที่ต้องทำตามระเบียบของภาครัฐ ขณะที่พนักงานในปัจจุบันก็ผสมผสานกันด้วยคนจากหน่วยงานรัฐ และเด็กรุ่นใหม่ที่ผ่านการทำงานกับบริษัทเองกชนมา
ไตรทิพย์ กล่าวว่า การที่บริษัทต้องทำงานไปพร้อมกับสถานการณ์บังคับ คนต้องเว้นระยะห่างกัน การทำงานแบบรีโมทที่ผ่านมาสามารถทำงานได้ สามารถระดมความคิดและถกเถียงกันได้ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา
ที่ไม่ขัดกับกฎระเบียบของภาครัฐนั้นสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายังไม่ Seamless จะเป็นเรื่องที่ต้องทำตามระเบียบของภาครัฐที่แก้ไขไม่ได้
“เราพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์มากที่สุด ถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์มาก แต่การทำงานใรปัจจุบันก็มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้”
ไตรทิพย์ กล่าวต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ยาก คือ การรับคนมาจากหลายๆ องค์กร ซึ่งแต่ละคนมีวิธีคิดและสไตล์การทำงานของตัวเองที่ติดมาจากที่เก่า ซึ่งครึ่งหนึ่งของพนักงานมาจากหน่วยงานรัฐ อีกครึ่งหนึ่งมาจากเอกชน เมื่อแต่ละฝ่ายเข้ามาเจอรูปแบบการทำงานของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะต้องปรับตัวกันพอสมควร บริษัทจะต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้คนทั้งสองกลุ่มสามารถทำงานด้วยกันได้โดยที่ไม่มีปัญหา
คนที่มาจากเอกชนก็จะต้องเข้าใจด้านกฎระเบียบของภาครัฐ ส่วนคนที่มาจากภาครัฐจะต้องเข้าใจการทำงานที่รวดเร็วแบบบริษัทเอกชน
“เราเชื่อว่าเราจะเป็นต้นแบบองค์กรที่ดีได้ จากนโยบายการทำงานของเอสอาร์ที แอสเสท จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น”
Achieve สูตรสำเร็จการบริหารงาน
หลายคนอาจจะสงสัยว่าการใช้คอนเซ็ปต์ Work Anywhere จะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานแต่ละคนทำงานจริงหรือไม่ จะเกิดความร่วมมือกันได้อย่างไรเมื่อคนไม่เจอตัวกันจริงๆ สำหรับ เอสอาร์ที แอสเสท นั้นใช้หลักในการบริหารคนแบบ Achieve คือ
-A (Accountability) พนักงานจะต้องมีความรับผิดและรับชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง และส่งงานได้ตามกำหนดเวลา
-C (Collaboration) บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเป็นทีม ถึงแม้ว่างานบางอย่างจะนั่งทำคนเดียว แต่สุดท้ายแล้วก็จะต้องทำงานเป็นทีม
-H (Honestly) องค์กรต้องการคนที่มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เพราะการทำงานส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับคนภายนอก
-I (Innovation) ส่งเสริมให้เกิดการคิดอะไรใหม่ๆ มีแนวความคิดที่ล้ำหน้า ไม่ตีกรอบความคิดของคน
-E (Expertise) บริษัทมุ่งเน้นในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในจุดต่างๆ และเพื่อความเจริญของประชาชนและเศรษฐกิจ
-V (Vision) เป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน และมองไปข้างหน้า ไตรทิพย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้บริษัทขนาดกลางที่ต้องการเช่าสำนักงาน จะมองหาพื้นที่ประมาณ 1000 ตารางเมตร ซึ่งในอนาคตบริษัทเหล่านี้จะใช้พื้นที่น้อยลงไปเรื่อยๆ จะต้องการเพียงพื้นที่รองรับให้คนสามารถเข้ามาประชุมกันได้ และจะเช่าสำนักงานในระยะสั้นลง ซึ่งในด้านธุรกิจของการพัฒนาพื้นที่จะต้องมีวิสัยทัศน์สอดคล้องและตอบรับกับเทรนด์ในยุคใหม่
-E (Efficiency) คือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ “เราพยายามสร้างให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร ถ้าเราสามารถปลูกฝังให้กับพนักงานบริษัทได้ ก็จะเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ” ไตรทิพย์ กล่าวเสริม
“การสร้างคนให้มีโอกาสได้ใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างบรรยากาศการทำงาน เป็นความท้าทายของการบริหารงาน ขณะเดียวกันด้วยสถานะของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เราอยากจะเปลี่ยนองค์กรให้เป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานแรกที่มีการเปลี่ยนวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จะสร้างผลงานออกมาได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” ไตรทิพย์ กล่าวสรุป