แสนสิริ เตรียมปั้น Net-zero Home เดินหน้าสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

แสนสิริ เตรียมปั้น Net-zero Home เดินหน้าสู่ องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

แสนสิริ ประกาศพันธกิจระยะสั้น-ระยะกลาง ลดคาร์บอน 20% ในปี 2025 และ 50% ในปี 2033 หลังศึกษาและจำแนกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแสนสิริ พบว่ามาจากองค์กรเพียง 2.2% และอีก 97.8% มาจาก Value Chain ทางอ้อมอื่น ๆ รุกพัฒนา Net-zero Home จับเทรนด์เพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่าหลังจากประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) แสนสิริได้เดินหน้าสู่เป้าหมายในทุกรูปแบบเพื่อร่วมแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ โดยจากข้อมูลของ Climate Watch Data พบว่าภาพรวมภาคธุรกิจในประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 61.11% รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 16.67% ตามด้วย ภาคการเกษตร 15.96% และ ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3.31%

ทั้งนี้ แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่ใช่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงในปริมาณสูง แต่ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ(Value Chain) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน

โดยแสนสิริมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งสิ้น 229,486 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อันมาจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัทเพียง 4,939.74 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือคิดเป็น 2.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเท่านั้น

แยกย่อยได้เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 คือ การใช้น้ำมันในการดำเนินงานของแสนสิริ 0.2% ขอบเขตที่ 2 คือ การใช้น้ำมันและพลังงานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ 2%

แสนสิริ เตรียมปั้น Net-zero Home เดินหน้าสู่ องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่มาจากห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Value Chain) อันเป็นขอบเขตที่ 3 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมที่ 224,547.24 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีหรือ 97.8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

โดยตัวเลขนี้สามารถแยกย่อยได้เป็นการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในอีก 60 ปีถึง 55% การซื้อวัสดุก่อสร้างจากคู่ค้า 29% การขนส่งสินค้าของคู่ค้า 2% และอื่นๆ 14%

MQDC ระดมทีมนักวิจัย 4 องค์กรใหญ่ เปิดเวทีเสวนา เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤตอย่างไร

อุทัย กล่าวต่อว่า แสนสิริมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยตรงของบริษัท (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ให้ได้ 20% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และลดก๊าซเรือนกระจกของทั้งขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ให้อยู่ที่ 50% ในปี 2033 (พ.ศ. 2576) โดยมีเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net-Zero ให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1.ก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

มุ่งประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้นวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาดเป็น 100% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) ผ่านการขยายแผนการติดตั้ง Solar Roof และ EV Charger ครบ 100% ให้กับบ้านแสนสิริทุกหลังทุกระดับราคา ซึ่งคาดว่าจะมีจุดคุ้มทุนขอค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 6 ปี, ติดตั้ง Solar Roof ครบ 100% ในคลับเฮาส์ของทุกโครงการใหม่แสนสิริ, ติดตั้งระบบสูบน้ำและบำบัดน้ำเสียพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Water Treatment Pump) ในพื้นที่ส่วนกลางของทุกโครงการ, เปลี่ยนรถส่วนกลางของบริษัทให้เป็นรถ EV 100% และเปลี่ยนการใช้น้ำมันของเครื่องจักรทุกชนิดมาใช้พลังงานไบโอดีเซล 100%

แสนสิริ เตรียมปั้น Net-zero Home เดินหน้าสู่ องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

2.ออกนโยบายด้านธรรมาภิบาลเพื่อลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้การดำเนินการ 3G ได้แก่

  • Green Procurement เลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน มีแผนลดการใช้พลังงานและน้ำทั้งในการผลิตและการใช้งานระยะยาว ใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Economy) พร้อมวางเป้าหมายจัดซื้อวัสดุ Low-carbon ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ในสัดส่วน 30% ของวัสดุที่ผ่านการจัดซื้อโดยแสนสิริ ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568)
  • Green Architecture & Design ออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน เช่น Cooliving Designed Home นวัตกรรมบ้านเย็นช่วยประหยัดพลังงาน, Zero Waste Design การออกแบบที่ลดการสิ้นเปลืองและลดปริมาณขยะให้มากที่สุด, Universal Design การออกแบบที่ครอบคลุมการใช้งานของผู้อยู่อาศัยทุกวัย รวมทั้งการผสมผสานแนวคิด Well-being ให้ความสำคัญสูงสุดด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย ทั้งความสะอาดปราศจากเชี้อโรค และครอบคลุมไปถึงการมีอากาศบริสุทธ์
  • Green Construction การก่อสร้างและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีวัสดุเหลือใช้เป็นศูนย์ ตลอดจนใช้นวัตกรรมในการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อย่นเวลาในการก่อสร้างให้มากที่สุดและก่อเกิด waste น้อยที่สุด
แสนสิริ เตรียมปั้น Net-zero Home เดินหน้าสู่ องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

ลงทุนในนวัตกรรมสีเขียว

ลงทุนในบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้ว 3 บริษัท คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท

โดยแสนสิริวางแผนที่จะจับมือพันธมิตรกว่า 10 ราย ตั้งทีมวิจัยและพัฒนา (Research & Development Team) เพื่อพัฒนาบ้านที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Home) ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยให้ได้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยมีบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าครบวงจร และ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้พัฒนาโซลูชันพลังงานโซลาร์ครบวงจรเป็นหนึ่งในพันธมิตร

สำหรับเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางจะพัฒนาบ้านประหยัดพลังงาน (Low-energy Home) ภายในปี 2023 (พ.ศ.2566) และบ้านที่ลดการปล่อยคาร์บอน 30% (Low-carbon Home) ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเทรนด์แห่งอนาคตและนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน อาทิ

  • การใช้ AI ในการคำนวณการประหยัดพลังงานของที่อยู่อาศัย
  • การใช้ไฟเบอร์แทนเหล็กเส้นในการก่อสร้าง
  • การพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างแบบพรีคาสต์ให้ปลอ่ยคาร์บอนและของเสียเป็นศูนย์
  • หลังคาโซลาร์เซลส์ที่ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นและมีแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืน
  • กระเบื้องลอนมุงหลังคาที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
  • การแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ระหว่างครัวเรือน
  • สวนที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100%
  • นวัตกรรมของเครื่องชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต

“ทั้งนี้ การวางกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคครัวเรือนนั้นไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จะช่วยปรับพฤติกรรมและแนวคิดของผู้อยู่อาศัยให้เข้าใจและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อผู้คนในที่อยู่อาศัยอันเป็นหน่วยเล็กๆในสังคมร่วมกันปรับพฤติกรรม ก็จะทำให้เกิดการขยายสู่พฤติกรรมการใช้พลังงานในที่ทำงานและสถานที่อื่นๆตามมา อันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด” อุทัย กล่าวสรุป

Scroll to Top