หัวเว่ย จับมือรัฐ-เอกชน เปิดการแข่งขัน Spark Ignite 2022 สนับสนุนสตาร์ทอัพขับเคลื่อนสู่ระดับภูมิภาค

หัวเว่ย จับมือรัฐ-เอกชน เปิดการแข่งขัน Spark Ignite 2022 สนับสนุนสตาร์ทอัพขับเคลื่อนสู่ระดับภูมิภาค

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ เอ็นไอเอ (NIA) บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และบริษัท แสนรู้ จำกัด เปิดโครงการการแข่งขัน “Spark Ignite 2022 – Thailand Startup Competition” ประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยสนับสนุนและเร่งยกระดับสตาร์ทอัพไทยสร้างนวัตกรรมสู่ตลาดโลก ด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้แก่กลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทย ด้วยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีไอซีทีชั้นนำ แหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ในการทำธุรกิจจากหัวเว่ย

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส (MDES) ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการเปิดการแข่งขัน “Spark Ignite 2022 – Thailand Startup Competition” ว่า “ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เร่งเดินหน้าตามแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ Data Economy ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านสำคัญๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หุ้นส่วนทางอุตสาหกรรม ธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนผู้พัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลของไทย

สำหรับการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสําหรับกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อรองรับอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย เราได้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของหัวเว่ยในการสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศอย่างรอบด้านผ่านโครงการ Spark และโครงการอื่นอีกมากมาย ในฐานะรัฐบาลเเละกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการต่างซึ่งรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Spark Ignite 2022 – Thailand Startup Competition จะช่วยเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพในไทยและก้าวสู่ระดับสากลอย่างเข้มแข็ง”

ปตท. เดินหน้าลงทุนพลังงานแห่งอนาคต เร่งเฟ้นหาสตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมลดคาร์บอน
IRPC เดินเกมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ เร่งลดคาร์บอน

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายของโครงการการแข่งขัน Spark Ignite 2022 ประจำปี พ.ศ. 2565 ว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ซึ่งกลุ่มสตาร์ทอัพและสตาร์ทอัพจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม เป้าหมายของหัวเว่ยคือการเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกที่สร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญให้แก่กลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทย เพื่อช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดออกมาได้

โดยเราจะสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านแรกคือการสนับสนุนด้วยเทคโนโลยีชั้นนำของเรา ซึ่งประกอบไปด้วย AI 5G ดิจิทัลพาวเวอร์ และนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลต่างๆ ด้านที่สองคือการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเติบโตผ่านการช่วยการจัดหาเงินทุน การทำตลาด และช่วยโปรโมทแอปพลิเคชันของสตาร์ทอัพดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม HMS ของเรา และด้านที่สามคือการช่วยเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับสตาร์ทอัพ สตาร์ทอัพกับธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) และสตาร์ทอัพกับองค์กรใหญ่เข้าด้วยกัน เพื่อเร่งสนับสนุนการเติบโตและการขยายตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพไทย”

อาเบล ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี โดยจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 1,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2568 ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์และเป็นผู้ผลักดันด้านไอซีทีชั้นนำ หัวเว่ยหวังที่จะช่วยให้กลุ่มสตาร์ทอัพประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจของพวกเขา เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยและการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

หัวเว่ยมั่นใจในศักยภาพของกลุ่มสตาร์ทอัพในการสร้างงานเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุคหลังสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และหัวเว่ยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนขึ้นอยู่กับบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะ รวมถึงอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพและสตาร์ทอัพที่อุดมสมบูรณ์ โดยหัวเว่ยได้ตั้งเป้าในการลงุทนในด้านอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเวลา 3 ปีต่อจากนี้

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า “ดิจิทัลสตาร์ทอัพถือเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย แต่ในทางกลับกัน เราพบว่ายังมีช่องว่างระหว่างดิจิทัลสตาร์ทอัพกับกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศอยู่พอสมควร ทั้งในด้านกลยุทธ์ ทักษะ ไปจนถึงศักยภาพด้านดิจิทัล ตลอดจนความพร้อมด้านเงินทุน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า เร่งดำเนินการในหลากหลายมิติเพื่อปิดช่องว่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพภายใต้มาตรการของ ดีป้า การผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในภาคประชาชน รวมถึงการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในบริบทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการยกระดับศักยภาพของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และจากความร่วมมือที่ดีเสมอมาระหว่าง ดีป้า กับ หัวเว่ย จะส่งผลให้โครงการ Spark Ignite 2022 เป็นอีกหนี่งโครงการสำคัญที่จะได้เห็นการบูรณาการการทำงานระหว่างรัฐ-เอกชนเพื่อยกระดับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้อย่างมั่นคงต่อไป”

หัวเว่ย จับมือรัฐ-เอกชน เปิดการแข่งขัน Spark Ignite 2022 สนับสนุนสตาร์ทอัพขับเคลื่อนสู่ระดับภูมิภาค

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ได้กล่าวเสริมว่า “NIA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเปิดตัวโครงการการแข่งขัน Spark Ignite 2022 ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ ทั้งนี้ นวัตกรรมได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ โดยนอกเหนือจากการสนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่โครงการนวัตกรรมแล้ว NIA ยังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา NIA ได้มีการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Hub) ขึ้นใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับสตาร์ทอัพและนักลุงทุนจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้สามารถดำเนินการด้านธุรกิจและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีกิจกรรมและการให้บริการหลากหลายด้าน เช่น การบ่มเพาะเร่งการเติบโตของธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ การตลาด กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างเครือข่ายของกลุ่มสตาร์ทอัพและนักลงทุน เพื่อเป็นเวทีพบปะนักลงทุนและเจรจาต่อยอดธุรกิจ

รวมทั้งโครงการ Growth Programme ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนให้แก่สตาร์ทอัพได้มากกว่า 500 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น NIA จึงมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันพาร์ทเนอร์ต่างๆ รวมถึงหัวเว่ย เพื่อบ่มเพาะระบบนิเวศสตาร์ทอัพและผลักดันประเทศไทยให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งอาเซียน”

โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน “Spark Ignite 2022 – Thailand Start-up Competition” นอกจากจะได้รับเครดิตคลาวด์มูลค่า 125,000 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยมูลค่ากว่า 4,500,000 บาท) และได้เข้าร่วมโครงการ Huawei Spark แล้ว ผู้ชนะเลิศยังจะได้รับโอกาสในการทํางานร่วมกับหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนําของโลกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสตาร์ทอัพไปสู่อีกระดับและเข้าสู่แพลตฟอร์มระดับโลก โดยโครงการ Huawei Spark Ignite ได้รับการเปิดตัวในปี พ.ศ. 2563 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยวัตถุประสงค์ในการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในแต่ละประเทศ ซึ่งหัวเว่ยให้การสนับสนุนทางการเงิน เทคนิคการตลาด การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการสนับสนุนด้านเครือข่าย

Scroll to Top