แซม ตันสกุล เผยงบ 3 พันล้าน เน้นลงทุนสตาร์ทอัพ “ฟินเทค อีคอมเมิร์ซเทค ออโตโมทีฟเทค”

แซม ตันสกุล เผยงบ 3 พันล้าน เน้นลงทุนสตาร์ทอัพ “ฟินเทค อีคอมเมิร์ซเทค ออโตโมทีฟเทค”

หลังจาก กรุงศรี ฟินโนเวต ได้เปิด Finnoventure Fund กองทุนสตาร์ทอัพของไทยที่เปิดให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาร่วมลงทุนได้ เบื้องต้นมี PTT OR ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสยามราชธานี หรือ SO เข้ามาร่วมลงทุนแล้ว และคาดว่าจะมีอีก 5 บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาร่วมลงทุนภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยจะทำการปิดกองทุนทั้งหมด 3,000 ล้านบาท ก่อนเดินหน้าใช้เงินลงทุนปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยกับ Biztalk ว่า 1,000 ล้านแรกจะลงทุนกับ 10 บริษัท ภายในปีนี้ และภายใน 3 ปี คาดว่าจะลงทุนทั้งหมดประมาณ 25-30 บริษัท เพราะบางบริษัทอาจจะมีการระดมทุนซ้ำ เช่น บริษัทที่ระดมทุนในปีแรกอาจจะได้รับทุนอีกรอบในปีที่ 3

“เรามองทั้งสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ ล่าสุดเราได้ร่วมทุนกับ MUFG จากญี่ปุ่น ให้ช่วยดูการลงทุนในต่างประเทศด้วย”

สำหรับแผนการลงทุนนั้น Finnoventure Fund โฟกัสใน 3 อุตสาหกรรมด้วยกัน คือ เทคโนโลยี (FinTech) รวมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนด้วย เทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ (Ecommerce Tech) และ เทคโนโลยียานยนต์ (Automotive Tech)

ล่าสุด กรุงศรี ฟินโนเวต ได้เข้าไปลงทุนในเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซอย่าง ZORT สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มบริหารจัดการออเดอร์และสต๊อก ในรอบ ซีรีส์ เอ ซึ่ง แซม มองว่า ZORT เป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์มากสำหรับ SMEs หรือ แม่ค้าออนไลน์ แต่จะต้องหาวิธีให้คนกลุ่มนี้เข้ามาใช้เทคโนโลยีเป็นระบบ Automation แทนการใช้ไฟล์เอกสาร

ตั้งเป้าดันสตาร์ทอัพเข้าตลาดหลักทรัพย์

แซม กล่าวว่า เป้าหมายของ Finnoventure Fund คือ ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพโตขึ้นได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพาสตาร์ทอัพเข้าตลาด โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ไทย และสามารถเติบโตในตลาดหลักทรัพย์หรือเป็นยูนิคอร์นในตลาดหลักทรัพย์

ภายในต้นปีหน้าน่าจะได้เห็นสตาร์ทอัพทยอยเข้าตลาดหลักทรัพย์ 1-2 ราย นำโดยกลุ่มฟินเทค มี ฟินโนมีนา (FINNOMENA) ค่อนข้างแน่นอน และภายในปี 2024 คาดว่าจะมีสตาร์ทอัพเข้าตลาดได้อีกหลายตัว

“การนำสตาร์ทอัพเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง คนจะมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น มีคนอยากเข้ามาทำสตาร์ทอัพมากขึ้น คนอยากเข้ามาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่างในประเทศอินโดนีเซียที่เด็กจบใหม่อยากเข้ามาทำบริษัทที่เป็นยูนิคอร์น เราก็อยากเห็นเด็กจบใหม่เข้ามาทำงานบริษัทอย่าง Flash Bitkub Zipmex หรือ FINNOMENA”

เพิ่มการลงทุน EV หลังรัฐบาลปลดล็อกนโยบาย

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในช่วงที่เกิดวิกฤติโลกทั้งโรคระบาด และความขัดแย้งระหว่างประเทศ แซม ให้ความเห็นว่า บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบก็อาจจะถูกชะลอการลงทุน แต่บางธุรกิจก็เติบโต ยกตัวอย่างวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมาก ขณะที่สายการท่องเที่ยวหดตัวลง

สำหรับกลยุทธ์ Finnoventure Fund คงต้องดูว่าเทคโนโลยีใดที่มีผลกระทบกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในโลก แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นธุรกิจใดที่ได้รับผลกระทบกับความไม่แน่นอน

ซึ่ง 1 ในสัดส่วนการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ Electric Vehicle (EV) หรือสตาร์ทอัพที่พัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

“เราจะเข้าไปลงทุนทั้งด้านรถยนต์ จักรยานยนต์ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ รวมไปถึงระบบ Payment ซึ่งระบบนิเวศของ EV มันมีเยอะมาก”

แซม กล่าวว่า ธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยปีนี้มีความน่าสนใจมาก แต่สายเทคของประเทศไทยไม่ค่อยเข้ามาพัฒนาด้านนี้ แต่หลังจากนี้คาดว่ามีแนวโน้มจะเห็นคนเข้ามาพัฒนามากขึ้น ซึ่งการที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริม EV ถือว่าเป็นช่วงที่ถูกจังหวะ เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น

“เราเล็งบริษัทที่พัฒนา EV ของไทย สตาร์ทอัพคนไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก แต่ถ้าในประเทศไทยไม่มี ก็คงออกไปหาในต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาพัฒนาในประเทศ เหมือนที่เข้าไปลงทุนกับ Grab ก่อนหน้านี้”

คาดใน 3 ปี จะมียูนิคอร์นไทยอีก 1-2 ราย

แซม คาดว่า ภายในปี 2024 ประเทศไทยจะมียูนิคอร์นเกิดขึ้นอีก 1-2 ราย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีความชัดเจน

“การจะได้เป็นยูนิคอร์นในประเทศไทยส่วนมากจะเป็นธุรกิจ B2C อย่าง 2 ตัวที่ผ่านมาคือ Bitkub กับ Flash Express สำหรับ B2B2C นั้นจะต้องขยายประเทศอย่างเดียวถึงจะเป็นยูนิคอร์นได้” แซม กล่าวปิดท้าย

Scroll to Top